posttoday

เราจะมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อนร่วมงานมากขึ้นในยุค 4.0

09 กันยายน 2560

ในระยะ 1-2 ปีมานี้ผู้อ่านทุกท่านคงคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” หรือ “ประเทศไทย4.0” แม้จะพูดถึงกันมาก

โดย อนัญญา มูลเพ็ญ

ในระยะ 1-2 ปีมานี้ผู้อ่านทุกท่านคงคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” หรือ “ประเทศไทย4.0” แม้จะพูดถึงกันมาก แต่จนแล้วจนรอดคนไทยก็ยังเข้าใจคำๆ นี้ที่แตกต่างกัน คนจำนวนมากเข้าใจว่าไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายอะไรสักอย่างที่เป็นเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง รวมๆคืออะไรก็ตามที่เหมือนอยู่ไกลสิ่งที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าความเข้าใจอันสับสนน่าจะเริ่มต้นจากการที่ทางรัฐบาลไทยกำหนด “ไทยแลนด์ 4.0”ไปสอดคล้องกับยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรมของทางฝรั่งยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีที่ตอนนี้ได้ประกาศชัดเจนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาในระดับที่ผสมผสานหลายเทคโนโลยีเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไปไกลกว่าไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศไทยอย่างมาก

หากจะให้สรุปให้เข้าใจแบบสั้นๆไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายที่จะนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจอีกยุคหนึ่งที่จะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จากเดิมที่ผ่านยุค 1.0-3.0 ที่เป็นเศรษฐกิจที่ผลักดันด้วยเกษตรกรรม ด้วยแรงงานและเครื่องจักรในอุตสาหกรรมหนักแต่การพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนเดิมๆ มาหลายสิบปีทำให้ประเทศไทยเหมือนติดกับดักการพัฒนายังไม่สามารถยกระดับตัวเองไปสู่เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วแบบประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นได้ รัฐบาลเขาจึงตั้งโจทย์ว่า การจะหลุดกับดักการพัฒนาได้จะต้องเปลี่ยนแรงขับเคลื่อนใหม่ไปสู่การใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

แต่การไปถึงตรงนั้น ไทยแลนด์4.0 จึงไม่ใช่เพียงการลงทุนพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตให้วิ่งเร็ว มีการผลิตอุตสาหกรรมที่เป็นยุค 4.0 เหมือนประเทศในยุโรป แต่มีหลายองค์ประกอบที่ต้องทำตั้งแต่การพัฒนาคนระบบการศึกษา การวิจัยและพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและด้านกฎระเบียบ และที่สำคัญคือการทำนโยบายส่งเสริมจูงใจ ที่สนับสนุนการพัฒนาแต่ละด้าน

บางคนอาจมองว่านี่เป็นเรื่องนโยบายและไกลตัว หรือบางคนอาจคิดว่านโยบายรัฐบาลนี้ พอเลือกตั้งรัฐบาลใหม่มานโยบายก็คงเปลี่ยนแต่จริงๆ แล้วต่อให้รัฐบาลเปลี่ยนทิศทางประเทศไทยก็ต้องไปทางนี้ เพราะทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วได้เดินไปทางนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายครั้งนี้จึงไม่ได้ไกลตัวเราๆ ท่านๆ เลย

อย่างน้อยๆ หากเรามีความเข้าใจว่าทิศทางโลกและการพัฒนาประเทศ หรือทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็จะรู้ว่าความสามารถด้านใด เรื่องอะไรที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจในอนาคต นำไปสู่ทั้งการปรับตัวเอง การวางแผนการศึกษา การพัฒนาทักษะคนรอบข้างให้รับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ถูกคลื่นการเปลี่ยนแปลงพัดพาให้ล้มหายไป

ในฐานะที่ได้ทำข่าวที่ใกล้ชิดกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ผู้เขียนขอหยิบตัวอย่างความคืบหน้าทางนโยบายมาให้เห็นสัก 1 เรื่อง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นการส่งเสริมที่ต่อเนื่องจากนโยบายสำคัญภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 นั่นคือรัฐบาลสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ลงทุนใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน ทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรองรับกับจำนวนแรงงานในประเทศที่ลดลงตามแนวโน้มสังคมสูงอายุที่จำนวนคนทำงานลดลง กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเหล่านี้ เช่น กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงกลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะมีการสนับสนุน

มาตรการส่งเสริมที่ได้รับการอนุมัตินั้น มีทั้งมาตรการกระตุ้นให้เกิดการใช้ในประเทศ การลงทุนผลิตและพัฒนาคนรองรับ ซึ่งภายใต้การส่งเสริมนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตเพิ่มเป็น 50%จากปัจจุบัน 30% ภายใน 5 ปี และมีเป้าหมายสำคัญคือการเป็นประเทศที่สามารถผลิตหุ่นยนต์ของตนเองสามารถส่งออกหุ่นยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ภายใน 10 ปี

นโยบายส่งเสริมการลงทุนนี้อาจจะยังไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ประสบการณ์จากอดีตแสดงให้เห็นว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนนี้มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาหลายๆอุตสาหกรรม ซึ่งผลต่อกลุ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัตินี้ก็คงไม่แตกต่างกัน ภาพที่จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือภาพที่ทั้งในภาคการผลิตและบริการจะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้แทนกำลังคนมากขึ้นแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เคยพึ่งแรงงานคนก็เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นๆ

เมื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแนวนโยบายของภาครัฐแล้ว จะเห็นว่าขณะนี้ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เราน่าจะต้องหันมามองว่าในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบทางบวกหรือลบต่อตัวเราและคนรอบข้างอย่างไรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีการสนับสนุนให้ใช้มากขึ้นจะมาแย่งงานที่เราทำอยู่หรือไม่ เราต้องพัฒนาตนเองอย่างไหนให้ยังสามารถยืนอยู่เหนือหุ่นยนต์

คนทำงานทุกคนคงต้องตระหนักในประเด็นนี้ เพราะการพัฒนาระบบอัจฉริยะทั้งหลายไปไกลกว่าที่เราเคยจินตนาการไว้มาก เรากำลังเดินเข้าสู่ยุคที่มีเพื่อนร่วมงานเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นๆ

แม้แต่นักข่าวเองยังเริ่มร้อนๆหนาวๆ เพราะขณะนี้เริ่มมีการพัฒนาหุ่นยนต์เขียนข่าวแล้วค่ะ!!