posttoday

ไทยพาณิชย์รุกเป็นผู้นำสร้างสังคมไร้เงินสด

31 สิงหาคม 2560

โพสต์ทูเดย์-ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็น 1 ใน 2 ธนาคารที่พัฒนาการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในแซนด์บ็อกซ์ของธปท.

 

โพสต์ทูเดย์-ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็น 1 ใน 2 ธนาคารที่พัฒนาการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในแซนด์บ็อกซ์ของธปท. ประกาศยกระดับแพลทฟอร์มด้านโมบายเพย์เม้นท์ เป็นผู้นำผลักดันเนชั่นแนล อี-เพย์เม้นท์ของรัฐบาล

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นพัฒนาแพลทฟอร์มดิจิทัลไลฟ์ไตล์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ทำธุรกรรมและมีกิจกรรมบนโลกออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น รวมทั้งเป็นไปยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่ก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะนโยบายเนชั่นเนล อี-เพย์เม้นท์ของรัฐบาล ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญของโมบายแพลทฟอร์มธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้ SCB Easy APP คือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า (Customer Experience) ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่เพียงตอบโจทย์การชำระเงินเพียงอย่างเดียว เพราะการชำระเงินเป็นเพียงเสี้ยงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดดิจิทัลไลฟ์สไตล์ตลอดวิถีชีวิตของผู้บริโภค โดยตั้งต้นจากบริการด้านการเงิน ที่ต้องเปิดบัญชีได้ รับเงินสะดวก การชำระเงินต่างๆ ง่ายที่สุด พร้อมกับได้ผนึกไลฟ์สไตล์ ทั้งการช้อปปิ้ง แฟชั่น หรือการรับประทานอาหาร อยู่ในแพลทฟอร์มเดียวกัน

 

ไทยพาณิชย์รุกเป็นผู้นำสร้างสังคมไร้เงินสด

 

"การชำระเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสุดท้ายของการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ดังนั้น การพัฒนาโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารจึงเปลี่ยนจากมุมมองการเป็นแค่เครื่องมือหรือช่องทางการชำระเงิน มาเป็นดิจิทัลแพลทฟอร์ม เบื้องต้นมีการชำระเงินเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นจะเริ่มมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การบริจาค หรือการจองที่นั่งของโรงภาพยนตร์ ที่จะสามารถทำได้ในแอพเดียว เป็นมิติใหม่ของโมบายแบงก์กิ้งอย่างแท้จริง" นายอารักษ์ กล่าว

นายอารักษ์ กล่าวว่า ล่าสุด ธนาคารได้พัฒนาการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ภายใต้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ เป็น 1 ใน 2 ธนาคารที่ได้รับอนุมัติจาก ธปท. ให้ทดลองดำเนินการจริงภายใต้พื้นที่จำกัด ได้แก่ ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร รถจักรยานยนต์รับจ้าง และตลาดนัดรถไฟ โดยธนาคารเตรียมขออนุมัติขยายการใช้ระบบชำระเงินแบบคิวอาร์โค้ด เพิ่มเติมอีก 2-3 พื้นที่

ไทยพาณิชย์รุกเป็นผู้นำสร้างสังคมไร้เงินสด  

"ตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการนำร่องชำระเงินแบบคิวอาร์โค้ด เพราะมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีร้านค้าฝั่งขารับผ่านเมอร์ช้านแอพหลายระดับตั้งแต่ร้านค้าใหญ่จนถึงระดับแผงลอย ขณะที่ฝั่งผู้ใช้ผ่าน เอสซีบี อีซี่ แอพ มีฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งมีผู้ประกอบการรายย่อย เช่น วินมอเตอร์ไซค์ เป็นเกิดเสน่ห์ของระบบนิเวศการชำระเงินที่เห็นผลได้จริง" นายอารักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี คาดว่า จะสามารถเปิดบริการคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ให้ลูกค้าทั่วไปภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และเห็นโอกาสการขยายตัวมากขึ้นผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าผูกบัญชีพร้อมเพย์ 4 ล้านราย และน่าจะเพิ่มเป็น 6 ล้านรายในปีนี้ ซึ่งลูกค้าที่มีพร้อมเพย์อยู่แล้วก็พร้อมจะชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดต่อไป ประเมินว่า หากเปิดรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดอย่างเป็นทางการทั่วประเทศภายในปีนี้ จะมีร้านค้ารับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด 2 ล้านราย จะเป็นลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ 4-5 แสนร้านค้า คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดราว 20-25%" นายอารักษ์ กล่าว

นายอารักษ์ กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมการชำระเงินคิวอร์โค้ดในระยะต่อไป คือ การเชื่อมโยงกับบัตรเดบิตและบัตรเครดิต ซึ่งมาตรฐานคิวอาร์โค้ดที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถรองรับการอ่านโค้ดการชำระเงินได้ทุกรูปแบบ เพื่อรองรับระบบการเรียกเก็บเงิน (Request to Pay) โดยขณะนี้ ในเอสซีบี อีซี แอพ ได้มีฟีเจอร์ Request to Pay แล้ว แต่ยังเป็นการนำร่องใช้ในธนาคารเดียวกัน ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินมีความพพร้อม ก็สามารถรองรับการเรียกเก็บเงินข้ามธนาคารได้ทันที คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2561

ไทยพาณิชย์รุกเป็นผู้นำสร้างสังคมไร้เงินสด  

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ร่วมกับร้าน 108 ช็อป ที่รองรับการชำระเงินด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดด้วย ซึ่งขณะนี้ เทคโนโลยีดังกล่าว อยู่ในแซนด์บ๊อกซ์ ของ ธปท. หากได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ก็จะขยายการวางตู้ให้กระจายทั่วประเทศ มั่นใจว่า จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคคนไทยจากความสะดวกสบาย และลดปัญหาเดิมๆ ของเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ เช่น ไม่ทอนเหรียญ เป็นต้น

นายอารักษ์ กล่าวว่า ธนาคารมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในด้านไลฟ์สไตล์แบงก์กิ้งของประเทศ ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้เร่งพัฒนาแพลทฟอร์มใหม่ พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่กับการสร้างระบบ และวางแนวทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการลูกค้าทุกด้าน ซึ่งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน โดยเฉพาะโมบายเพย์เม้นท์ในครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญที่สร้างบริบทใหม่ของประเทศที่ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ผลักดันยุทธศาสตร์ให้เป็นประเทศไทย 4.0 ในไม่ช้า

ไทยพาณิชย์รุกเป็นผู้นำสร้างสังคมไร้เงินสด