posttoday

พอช.ร่วมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจอีสานใต้

30 สิงหาคม 2560

พอช.จับมือภาคีและชุมชนร่วมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากชุมชนอีสานใต้นำร่อง3จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ และบุรีรัมย์

พอช.จับมือภาคีและชุมชนร่วมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากชุมชนอีสานใต้นำร่อง3จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ และบุรีรัมย์

 

ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)เปิดเผยว่าได้เดินทางไปเยี่ยมชมการท่องเที่ยวชุมชนที่ ต.กู่กาสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด  เส้นทางสายไหมสุรินทร์ และสวายโมเดล ที่ ต.สวาย จ.สุรินทร์  และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ต.สนวนนอก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งชุมชนทั้ง 3 แห่งถือว่ามีความเข้มแข็งมาก คนในชุมชนมีความตั้งใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม บริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นหลายฝ่ายจึงยื่นมือเข้ามาช่วยกันสนับสนุนให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองลดต้นทุนการผลิต  สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน นำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ในช่วง  1 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 ชุมชนนี้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็วมาก ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถขยายฐานการทำงานไปในด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่ตำบลสวาย จ.สุรินทร์มีการชูเรื่องทอผ้าไหมใต้ถุนเรือนตามด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน ปิดท้ายด้วยเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวจากการชูอัตลักษณ์วิถีผ้าไหม ร่วมบูรณาการวัฒนธรรมและภาษา นำมาสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน และวิถีเกษตรอินทรีย์ กลายเป็นโมเดลแบบอย่างที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการกับเศรษฐกิจและทุนชุมชนได้เอง

"ปัจจุบันมากกว่า 1700 ครัวเรือนในตำบลสวาย ที่ดำรงชีพด้วยการทอผ้าไหม  และยังมีประมาณ 50 ครัวเรือน ที่ยังคงอนุรักษ์การทอผ้าไหมใต้ถุนเรือนเอาไว้  นอกจากนี้ใน ต.สวายยังมีการจัดการตั้งแต่ปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม ย้อมสีเคมีและสีธรรมชาติ ทอผ้า ไปจนถึงการจัดการเพื่อส่งออกสู่ตลาดผ้าอย่างเป็นระบบ อีกทั้งเกิดการรวมกลุ่มผู้ทอผ้าไหมในตำบลสวายได้เปลี่ยนพื้นที่ในชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าพื้นเมือง และกลายมาเป็นตำบลหนึ่งที่ผลิตผ้าไหมพื้นเมืองสีเคมีและสีธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ"

ส่วนการท่องเที่ยวชุมชนที่ ต.สนวนนอก จ.บุรีรัมย์  ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถรวมกลุ่มชาวบ้านมาร่วมทำงานได้เกือบทั้งตำบล  จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมโดยชุมชน ที่บริหารงานโดยชุมชนแท้ๆ   ทำให้นักท่องเที่ยว ผู้ที่เข้ามาดูงานเข้าใจวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตภาษา ประเพณี วิถีวัฒนธรรมของอีสานใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ    สำหรับการเที่ยวชมในชุมชนนั้นจะแบ่งเป็นฐานต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม มีบริการอาหารและที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวด้วย   ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จ.บุรีรัมย์  และผู้แทนองค์กรชุมชนเข้ามาสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการภายในที่ดีขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีรายได้กระจายไปทุกครัวเรือนจากการท่องเที่ยวที่จัดการด้วยตนเอง

“ภาพรวม ร้อยเอ็ด-สุรินทร์-บุรีรัมย์ พอช.พยายามสื่อสารกับทุกๆฝ่าย เพื่อให้เห็นกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่คนในชุมชนได้มีโอกาสลุกขึ้นมามีส่วนร่วม และได้ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แม้ว่ากระบวนการบางพื้นที่อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่ ณ วันนี้ เรามีแกนนำแต่ละพื้นที่ได้จับมือกับประชารัฐรักสามัคคี และทีมงานท่องเที่ยวในเขตอารยธรรมอีสานใต้ อนาคตอันใกล้ กระบวนการตรงนี้จะเชื่อมโยงและเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น”  ดร.อนุรักษ์กล่าว

พอช.ร่วมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจอีสานใต้