posttoday

หวั่นสารพัดปัจจัยลบดับฝันเที่ยวไทย15ล้านคน

21 กันยายน 2553

ปัญหาทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย อัตราเงินบาทแข็งค่า ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้นับเป็นปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดท่องเที่ยว...

ปัญหาทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย อัตราเงินบาทแข็งค่า ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้นับเป็นปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดท่องเที่ยว...

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาด

เมื่อฝุ่นควันทางการเมืองภายในประเทศไทยเริ่มจางลง โต้โผใหญ่ผู้ทำหน้าที่ด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และการตลาดอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หารือร่วมกับตัวแทนสมาคมด้านการท่องเที่ยว เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและปรับปรุงระบบการสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยสรุปแนวทางปฏิบัติการที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อวางกรอบการทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว รับมือกับปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในวันข้างหน้า

สุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท. เล่าว่า ททท.ได้ร่วมกับภาคเอกชน 7 หน่วยงาน เช่น สมาคมด้านการท่องเที่ยว เช่น สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตตา) และตำรวจท่องเที่ยว ร่วมดำเนินการศูนย์ปฏิบัติการวางแผนท่องเที่ยว และศูนย์ปฏิบัติการในภาวะวิกฤต (ศวก.) ติดตามสถานการณ์การสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างใกล้ชิดช่วงชุลมุนทางการเมืองระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.

จนกระทั่งขณะนี้เข้าสู่แผนยุทธศาสตร์พลิกฟื้นการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่าสัญญาณการท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าผ่านทุกด่านระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. เติบโต 13% จำนวน 10 ล้านคน หากไม่มีปัจจัยลบเกิดเพิ่มขึ้น ททท.เชื่อว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าไทยได้ราว 15 ล้านคน

ทั้งนี้ ททท. และสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟตตา) ได้ประเมินปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ปัญหาทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย อัตราเงินบาทแข็งค่า ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้

“สัญญาณการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวดี นักท่องเที่ยวระยะใกล้แถบเอเชียเดินทางเข้ามาอย่างคึกคัก เช่น จีน อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย ยุโรปอย่างรัสเซีย ขณะที่การเดินทางระยะกลางและระยะไกลยังต้องติดตามสถานการณ์อีกระยะ ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทอาจไม่ส่งผลที่ชัดเจนมากนัก” สุรพล กล่าว

หวั่นสารพัดปัจจัยลบดับฝันเที่ยวไทย15ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เฟตตาได้เสนอให้ ททท.แก้ไขขั้นตอนการใช้งบประมาณ และการปรับเปลี่ยนแผนการทำงานในระดับเชิงนโยบายในกรณีเกิดวิกฤตให้มีความยืดหยุ่น โดยลดเงื่อนไขต่างๆ ลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และสอดรับกับสถานการณ์ทางการท่องเที่ยวที่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง

ด้าน เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ในฐานะโฆษกเฟตตา ได้เสนอให้ปรับโครงสร้างการทำตลาด โดยปรับสัดส่วนการทำตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างละครึ่ง เพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีการเกิดวิกฤตในอุตสาหกรรมนี้ จากปัจจุบัน ททท.ได้มุ่งให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศสัดส่วน 70% และในประเทศ 30%
การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะช่วยให้การทำตลาดมีความง่าย และทันต่อสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ โดยวิธีดังกล่าวอาจไม่เห็นผลในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่ควรวางกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้อีก 5 ปีข้างหน้าแผนเกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังควรวางแผนการทำมาร์เก็ตติงอินไซด์ และการวิจัยตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การวางแผนการตลาด รวมถึงการพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวในแต่ละตลาดสูงสุด

ด้านตลาดในประเทศ มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สะท้อนภาพว่า ช่วงปลายปีนี้เชื่อว่าคนไทยจะออกมาเดินทางท่องเที่ยวอย่างคึกคัก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) อากาศที่เย็นลงจะทำให้คนไทยออกมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเองก็ต้องมีการพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอเส้นทางที่แปลกใหม่ให้กับคนไทยอยู่เสมอด้วย