posttoday

ยุโรปตั้งหลักใหม่ พาโลกลุยค้าเสรี

10 กรกฎาคม 2560

หลังจากที่กระแสชาตินิยม “ขวาจัดผงาด” ซึ่งต่อต้านการค้าเสรีและคุกคามความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป (อียู)

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

หลังจากที่กระแสชาตินิยม “ขวาจัดผงาด” ซึ่งต่อต้านการค้าเสรีและคุกคามความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มแผ่วซาลงไป อียูก็เริ่มเดินหน้าลุยการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจับมือกับญี่ปุ่น และยังจะเริ่มการเจรจาการค้าใหม่กับแคนาดาอีกรอบ

การเริ่มต้นพูดคุยค้าเสรีระลอกใหม่ของอียูยังนับเป็นการตั้งหลักยุโรปให้กลับมาสู่ “ทางค้าเสรี” หลังการล้มเหลวของความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนระหว่างแอตแลนติก (ทีทีไอพี) หรือการค้าเสรีระหว่างสหรัฐและยุโรป ที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อกระแสขวาจัดภายในประเทศ และลัทธิปกป้องการค้าที่ปะทุขึ้นในยุโรป

ในช่วงก่อนการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ (จี20) โดนัลด์ ทุสก์ ประธานสหภาพยุโรป (อียู) ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างอียูและญี่ปุ่น ที่ครอบคลุมเศรษฐกิจขนาด 19% ของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่รวมกันมากถึง 38% ของโลก หลังการเจรจามากเกือบ 20 รอบ
กินเวลาอย่างยาวนานกว่า 4 ปี

อียูประเมินว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยภาคธุรกิจให้ประหยัดค่าภาษีนำเข้าในแต่ละปีได้มากถึง 1,000 ล้านยูโร (ราว 3.9 หมื่นล้านบาท) และช่วยเพิ่มการส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้จากปีละราว 8 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.1 ล้านล้านบาท) เป็น 1 แสนล้านยูโร (ราว 3.9 ล้านล้านบาท) ขณะที่ญี่ปุ่นยังจะได้ประโยชน์จากการส่งออกรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศเข้าไปยังอียูโดยปราศจากภาษีอีกด้วย จากเดิมที่ตั้งเอาไว้สูง 10%

“พวกเรากำลังส่งข้อความสำคัญให้แก่โลกว่า พวกเราจะยืนหยัดเพื่อการค้าที่เปิดกว้างและเป็นธรรม ตราบเท่าที่พวกเรายังเฝ้าคอยดู จะไม่มีการปกป้องลัทธิปกป้องการค้า” ยุงเกอร์ กล่าว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงนับเป็นการ “สวนกลับ” นโยบายปกป้องการค้า ซึ่งกระแสดังกล่าวนำโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ โดยทรัมป์ยึดมั่นกับนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ซึ่งจะผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐด้วยนโยบายที่ส่งเสริมให้มีการเจรจาค้าเสรีใหม่ เพื่อให้สหรัฐได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น การสั่งสอบประเทศคู่ค้าที่มีการค้าเกินดุลกับสหรัฐ ซึ่งรวมไปถึงเยอรมนีและฝรั่งเศส

นอกจากนี้ อียูและแคนาดายังจะเร่งให้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองชาติ หรือเซต้า มีผลโดยเร็วที่สุดภายในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ และเยอรมนียังส่งสัญญาณจะฟื้นการเจรจาทีทีไอพีกับสหรัฐอีกด้วย

“ทัศนวิสัยของฉันต่อโลกาภิวัตน์ คือในโลกและการเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันของโลกนี้ พวกเราต้องการระบบการค้าซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่ทุกคนสามารถได้ประโยชน์ร่วมกันได้ ในตอนนี้มีแนวคิดที่ว่าการโลกาภิวัตน์จะต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ เสมือนเป็นแค่เกมที่มีการแพ้ชนะเสมอ แต่ฉันไม่เชื่อเช่นนั้น” นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมนี กล่าว

การผลักดันการค้าเสรียังสะท้อนได้จากแถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม จี20 ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจากอียู แคนาดา เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่น รวมไปถึงสหรัฐ

จี20 ประสบความสำเร็จในการออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการค้าเสรีและการเปิดกว้างตลาด เนื่องจากการค้าเสรีจะให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายซึ่งกันและกัน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหรัฐยินยอมร่วมต่อสู้กับการกีดกันทางการค้า แม้จะยึดมั่นกับนโยบาย “อเมริกามาก่อน” และก่อนหน้าการประชุม ทรัมป์ ยังเผยว่า รับไม่ได้กับข้อตกลงการค้าเสรีที่ทำให้สหรัฐเสียประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุถึงความสำคัญในการใช้มาตรการปกป้องตลาดอย่างถูกต้องตามหลักหรือถูกกฎหมาย

“พวกเราจะเปิดกว้างตลาด เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการค้า การลงทุน และการปราศจากการกีดกันซึ่งกันและกัน และเราจะร่วมกันต่อสู้กับลัทธิการปกป้องการค้า ซึ่งรวมถึงมาตรการการค้าที่ไม่เป็นธรรม และเล็งเห็นความสำคัญของมาตรการปกป้องการค้าที่ถูกต้องตามหลัก” แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวระบุ

เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อียูได้ตั้งภาษีป้องกันการทุ่มตลาดสูงสุดถึง 35.9% กับเหล็กม้วนจีน โดยระบุว่าจีนช่วยอุดหนุนผู้ผลิตเหล็ก เพื่อปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศจากราคาเหล็กถูกของจีน ท่ามกลางภาวะการผลิตล้นตลาดจนทำให้ราคาถูกลง สร้างความไม่พอใจให้กับจีนอย่างมาก และระบุว่าอียูปราศจากความเข้าใจในระบบการปล่อยเงินทุนให้กับผู้ผลิตของจีน

ประเด็นเหล็กเป็นประเด็นร้อนในการประชุม จี20 เช่นกัน โดยภายในแถลงการณ์ร่วมของ จี20 ระบุว่า แต่ละชาติจะต้องกำจัดการอุดหนุนผู้ผลิตจนทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้ และแต่ละชาติจะต้องมีทางแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อความเท่าเทียมในการแข่งขัน ซึ่งโออีซีดีจะจัดการประชุมผลผลิตเหล็กส่วนเกินโลกในเดือน ส.ค.นี้

นอกจากนี้ การออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างอียูและแคนาดา ยังสะท้อนความล่าช้าของการผลักดันการค้าเสรีอีกด้วย โดยแต่เดิมนั้นเซต้าจะเริ่มมีผลในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนออกไปเป็นภายในวันที่ 21 ก.ย.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากจำเป็นต้องผ่านการลงมติให้สัตยาบันของแต่ละประเทศสมาชิกอียูและแคนาดาเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงแคนาดาและอีก 4 ชาติอียู ได้แก่ ลัตเวีย เดนมาร์ก สเปน และโครเอเชีย เท่านั้นที่ให้สัตยาบันดังกล่าว

ความล่าช้าดังกล่าวเกิดขึ้นหลังข้อตกลงนั้นได้มาท่ามกลางการประท้วงจากทั่วยุโรป

การจะผลักดันการค้าเสรีครั้งนี้ ยุโรปและทั่วโลกจึงต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าข้อตกลงที่ได้นั้น เป็นข้อตกลงที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย หลังจากที่ผ่านมาประสบกับปัญหาการประท้วงหนัก ท่ามกลางความกลัวที่สินค้าจากประเทศอื่นจะเข้ามาตีตลาด จนทำให้ผู้ผลิตในประเทศต้องเสียหลักไป

ปัญหาดังกล่าวสะท้อนได้จากฉันทามติของกลุ่ม จี20 ในการประชุมที่ผ่านมา

“พวกเราเล็งเห็นว่าผลประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระดับนานาชาติไม่สามารถกระจายไปทั่วถึงทุกส่วนอย่างเพียงพอ แต่พวกเราจะหาทางปลดล็อกให้ประชาชนของพวกเราสามารถเข้าถึงโอกาสและผลประโยชน์จากเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์” แถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม จี20 ระบุ