posttoday

"อารีพงศ์" แจงเหตุล้มสรรหาดีดีบินไทยหลายครั้งเกิดจากปัญหากฎหมาย

15 มิถุนายน 2560

"อารีพงศ์"เปิดใจเหตุล้มสรรหาดีดีบินไทย ยันไม่ใช่ม.44แก้ปัญหาพร้อมปรับทีโออาร์เปิดกว้าง ยันไม่เพิ่มทุนนกแอร์

"อารีพงศ์"เปิดใจเหตุล้มสรรหาดีดีบินไทย ยันไม่ใช่ม.44แก้ปัญหาพร้อมปรับทีโออาร์เปิดกว้าง ยันไม่เพิ่มทุนนกแอร์

จากกรณีที่มีการล้มสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)-ของบริษัทการบินไทยที่ปรากฏว่าผู้สมัครทั้ง 4 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด บอร์ดจึงมีมติดำเนินการสรรหาใหม่

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ(บอร์ด) การบินไทยว่า ขณะนี้ขั้นตอนการสรรหาดีดีบินไทยนั้นยังคงดำเนินต่อไปโดยใช้คณะทำงานสรรหาชุดเดิมที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการ โดยระหว่างนี้จะให้นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการดีดีบินไทยดำเนินงานไปพลางก่อนเพราะที่ผ่านมามีผลงานเป็นที่น่าพอใจในการปฏิรูปองค์กรการบินไทยอีกทั้งยังเป็นผู้มีความชำนาญงานสามารถกดปุ่มเดินหน้าทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการบินไทยเป็นกิจการที่ต้องแข่งขันกับบริษัทสายการบินจากทั่วโลกตลอดเวลา โดยเฉพาะสายการบินพรีเมี่ยมและฟูลเซอร์วิสในภูมิภาคอาเซียนที่มีผลกระทบด้านรายได้จากปัจจัยการแข่งขันรุนแรงของตลาดการบินและโลว์คอสแอร์ไลน์

นายอารีพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้กระบวนการสรรหาดีดีต้องล้มกระดานในหลายครั้งที่ผ่านมานั้นเกิดจากปัญหาด้านความขัดแย้งทางตัวบทกฎหมายอย่าง พรบ.รัฐวิสาหกิจซึ่งระบุว่าบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งดีดี ที่ผ่านมานั้นเกิดจากปัญหาด้านความขัดแย้งทางตัวบทกฎหมายอย่าง พรบ.รัฐวิสาหกิจซึ่งระบุว่าบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งดีดี ต้องไม่เคยทำธุรกิจและเกี่ยวข้องกับการบินไทยมาก่อน ซึ่งการบินไทยเป็นบมจ.ขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงหลากหลายด้านและเกี่ยวพันกับหลายองค์กร ส่งผลให้ผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านบริหารที่เหมาะสมเข้ารับการคัดเลือกทั้งหมดต้องหมดสิทธิ์และขาดคุณสมบัติการสรรหา ดังนั้นจึงคาดว่าต้องไปคุยกับคณะทำงานเรื่องการปรับทีโออาร์ให้เปิดกว้างมากขึ้น

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เวลาสรรหานานเพียงใด แต่ได้เร่งให้คณะกรรมการนำไปดำเนินการแล้วจึงมั่นใจว่าอีกไม่นานจะสามารถเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาได้โดยจะยืดระยะเวลาการรับสมัครให้มากกว่าเดิมเพื่อเพิ่มตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้จะยังไม่ขอใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแน่นอนเพราะยังเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้

นายอารีพงศ์กล่าวถึงกรณีการเพิ่มทุนนกแอร์ว่า ตอนนี้บอร์ดยังไม่มีการหารือเรื่องของการเข้าไปเพิ่มทุนให้กับสายการบินนกแอร์แต่ขอบอกเลยการบินไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นนกแอร์จะไม่ทอดทิ้งนกแอร์แน่นอน ส่วนเรื่องอนาคตจะเพิ่มทุนหรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ แม้จะไม่มีการเพิ่มทุนแต่ยังสามารถร่วมมือกันทางด้านธุรกิจทั้งการทำโค้ดแชร์รวมถึงความช่วยเหลือด้านอื่นๆ แต่ทั้งนี้หากนกแอร์ได้พาร์ทเนอร์กับกลุ่มทุนใหม่เข้ามาแล้วสามารถเดินหน้าธุรกิจได้การบินไทยก็ยินดีถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยลงกว่าเดิม แต่ตอนนี้ขอทุ่มแรงไปที่การบินไทยและไทยสมายล์ก่อน

ส่วนประเด็นว่าหากการบินไทยมิได้ถือหุ้นใหญ่สุดในนกแอร์แล้วจะมีปัญหาในการเดินหน้าแผนไทยกรุ๊ปที่จะมีการเชื่อมโยงการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างการบินไทย,ไทยสมายล์และนกแอร์ เข้าด้วยกันหรือไม่นั้น ตนคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจไปตามแผนเพราะความร่วมมือดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามการปฏิเสธเพิ่มทุนนกแอร์ในครั้งที่ผ่านมานั้นเนื่องจากต้องโฟกัสไปที่ปฏิรูปการบินไทยและสร้างรายได้สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งสามารถเดินหน้าไปได้หลายจุดแล้วแต่ก็ยังมีอีกหลายจุดที่ยังช้ากว่าแผนขณะที่ทิศทางของสายการบินไทยสมายล์ก็ดีขึ้นเช่นกันจนคาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในปีนี้

"การบินไทยมีเงินในสัดส่วนของนกแอร์อยู่แล้ว เราไม่ต้องการเห็นนกแอร์ล้มไปหรอก ทุกวันนี้ไม่ได้ละเลยดังนั้นการทำให้นกแอร์รอดเป็นเรื่องสำคัญ"นายอารีพงศ์กล่าว

ด้านนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างรอบอร์ดนกแอร์ประชุมในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาก่อนสรุปประเด็นการเพิ่มทุนและแนวทางกาดำเนินธุรกิจเพื่อนำแผนกลับมาเสนอการบินไทย ซึ่งหากแผนของนกแอร์มีทิศทางที่ดีสามารถสร้างรายได้ให้กับการบินไทยได้ก็ยินดีที่จะเพิ่มทุนให้กับสายการบินนกแอร์แน่นอนเพราะการบินไทยมีความพร้อมทางด้านเงินทุนอยู่แล้วประกอบกับตัวเลขกำไรก่อนหักภาษี(EBITDA) จึงไม่ติดปัญหาใดใดหากต้องการเพิ่มทุนให้กับนกแอร์ หากมีเงื่อนไขที่ดีพร้อมช่วยเต็มที่อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมบอร์ดนกแอร์ในวันนี้บริษัทเตรียมเสนอหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงมูลค่าราว 4 พันล้านบาทให้กับสองบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง สกู๊ตของกลุ่มทุนสิงคโปร์ ซึ่ง “สิงคโปร์แอร์ไลน์” ถือหุ้น 100 % ร่วมกับบริษัทสายการบินครบวงจรยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนคือกลุ่มบริษัทเห้อหนาน โดยไม่มีรายชื่อของบริษัทการบินไทยในลิสต์หุ้นเพิ่มทุนแบบเจาะจง