posttoday

ถอดบทเรียนวิกฤตอูเบอร์

14 มิถุนายน 2560

สตาร์ทอัพของโลกใหม่นี้กลับมาตกม้าตาย เพราะปัญหาของ “โลกเก่า” ที่กำลังเล่นงานอยู่ในปัจจุบัน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ [email protected]

ข่าวในแวดวงธุรกิจไอทีที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ ไม่ได้มีเพียงหุ้นกลุ่มไอทีร่วงถล่มทลายตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข่าวการปรับโฉมครั้งใหญ่ใน “อูเบอร์” ที่เกิดประเด็นดราม่า อย่างหนักหน่วงมาหลายเดือนจนนำไปสู่การปลดลาออก และพักงานของผู้บริหารระดับสูงหลายคน

หนึ่งในนั้นยังรวมถึงตัวของผู้ร่วมก่อตั้งอูเบอร์ขึ้นมาเองกับมืออย่าง “ทราวิส คาลานิก” ที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อยู่ด้วย และคาดว่าอาจจะถูกพักงานในเร็วๆ นี้

อูเบอร์ถือเป็น “ยูนิคอร์น” (สตาร์ทอัพมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของวงการสตาร์ทอัพก็ว่าได้ทั้งที่ก่อตั้งมาไม่ถึง 10 ปี โดยเริ่มต้นผุดธุรกิจคาร์แชร์ริ่งเมื่อปี 2009 ที่ถือเป็นของใหม่ในยุคนั้น และประสบความสำเร็จในปี 2011 เป็นต้นมา จนขยายธุรกิจไปทั่วโลก และกำลังมุ่งพัฒนาไปอีกขั้นกับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ

ความสำเร็จของอูเบอร์นั้นทำให้สตาร์ทอัพแห่งนี้ได้รับการประเมินตามมูลค่าตลาดถึง 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือสูงยิ่งกว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีประวัติก่อตั้งอันยาวนาน เช่น ฟอร์ด ทำให้กลายเป็นสตาร์ทอัพตัวอย่างที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันถึง และใครๆ ก็จับตามอง

ทว่า สตาร์ทอัพของโลกใหม่นี้กลับมาตกม้าตาย เพราะปัญหาของ “โลกเก่า” ที่กำลังเล่นงานอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน การเลือกปฏิบัติ กระทั่งข้อกล่าวหาเรื่องการไปขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอื่นที่กำลังเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่

 

ถอดบทเรียนวิกฤตอูเบอร์ ทราวิส คาลานิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อูเบอร์

ที่จริงแล้วอูเบอร์ถือเป็นบริษัทรุ่นใหม่ที่คนส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนยุคเจนวาย หรือไม่ก็เจนเอ็กซ์ตอนปลาย เช่น ซีอีโอที่อยู่ในวัยเพียง 40 ปี กลุ่มคนเหล่านี้เติบโตมาในยุคที่ซิลิคอน วัลเลย์ กำลังสะพรั่ง และมีแนวคิดกับการปฏิบัติใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่ในกรอบโดยเฉพาะเรื่องเพศ

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “Diversity and Inclusion” ซึ่งเป็นแนวคิดยุคใหม่ของที่ทำงานรุ่นใหม่ที่เน้นความหลากหลายและการกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน นั่นคือไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ หรือความแตกต่างอื่นๆ และไม่กีดกันหรือเลือกปฏิบัติ

ทว่าสตาร์ทอัพรุ่นใหม่อย่างอูเบอร์กลับถูกกล่าวหาว่าเต็มไปด้วยปัญหาดังกล่าว แถมยังมาจากกลุ่มผู้บริหารหรือพนักงานระดับสูงเสียเอง เช่น กรณีที่วิศวกรสาวแฉว่าถูกเพื่อนร่วมงานขอมีเพศสัมพันธ์ด้วยหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการแก้ปัญหาให้เพราะเพื่อนร่วมงานรายนี้เป็นพวกคนเก่งที่ทำงานให้บริษัทได้

ที่สำคัญก็คือ โครงสร้างเรื่องการซื้อหุ้นคืนจากพนักงานยังพ่วงเรื่องการบังคับให้สิทธิการออกเสียง (Voting Rights) ทำให้ซีอีโออย่างคาลานิกได้ครองอำนาจการตัดสินใจในบริษัทมหาชนนี้อยู่มาก และเกิดปัญหาการตัดสินที่ผิดพลาดของทีมผู้บริหารตามมา แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถคุ้มครองได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะอูเบอร์เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจกับคนเป็นหลัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความไว้วางใจของผู้บริโภคเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในยุคที่การแข่งขันคาร์แชร์ริ่งกำลังผุดขึ้นทั้งในบ้านและต่างประเทศ จึงนำไปสู่การลาออกและไล่ออกพนักงานหลายสิบชีวิต และคาดว่าจะรวมถึงตัวซีอีโอเอง

เป็นที่คาดกันว่าคาลานิกอาจต้องพักงานระยะหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้คณะใหม่ขึ้นมากู้ชื่อของอูเบอร์ ก่อนจะกลับไปอีกครั้งในฐานะบอร์ดหรือที่ปรึกษาในภายหลัง พร้อมบทเรียนราคาแพงในครั้งนี้