posttoday

ยุโรปเล็งเป้าบิ๊กไอทีมะกัน หวังสกัดผูกขาดตลาด

22 พฤษภาคม 2560

การเดินหน้าคุมเข้มบริษัทไอทีรายใหญ่ของสหรัฐ ยังเกิดขึ้นขณะที่อียูกำลังพิจารณาผลักดันโครงการ ดิจิทัล ซิงเกิ้ล มาร์เก็ต

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดตลาดแห่งยุโรปในการสั่งปรับ เฟซบุ๊ก บริษัทโซเชียลมีเดียรายใหญ่สัญชาติสหรัฐ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,225 ล้านบาท) กรณีแจ้งข้อมูลผิดพลาดเกี่ยวกับการเข้าซื้อ วอตส์แอพ แอพพลิเคชั่นแชตชื่อดังเมื่อปี 2014 นับเป็นการส่งสัญญาณอีกครั้งว่าสหภาพยุโรป (อียู) กำลังจับตาการดำเนินงานของเอกชนยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอย่างใกล้ชิด 

อียูตัดสินใจดังกล่าวหลังสอบสวนเฟซบุ๊กกรณีการซื้อวอตส์แอพมาเป็นเวลานาน 6 เดือน โดยก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กแจ้งต่อทางอียูว่าไม่สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลบัญชีผู้ใช้ระหว่างวอตส์แอพและเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ดี เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กกลับประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายโดยอนุญาตให้แพลตฟอร์มโฆษณาบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม แอพพลิเคชั่นแชร์ภาพถ่ายในเครือบริษัท สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ของวอตส์แอพได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎต่อต้านการผูกขาด เนื่องจากอาจสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน โดยเฟซบุ๊กสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ใช้ที่มากกว่ามาช่วยสร้างกำไรให้ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ของบริษัท

แนวทางบริหารจัดการข้อมูล

ผู้ใช้ของเฟซบุ๊กเป็นประเด็นน่าวิตกในสายตาของรัฐบาลยุโรป โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดตลาดของอิตาลีสั่งปรับเฟซบุ๊กเช่นกันที่ 3 ล้านยูโร (ราว 115 ล้านบาท) กรณีบังคับให้ผู้ใช้ต้องยอมแชร์ข้อมูลส่วนตัวในวอตส์แอพกับเฟซบุ๊ก ขณะที่หน่วยงานฝรั่งเศสสั่งปรับบริษัท 1.5 แสนยูโร (ราว 5.76 ล้านบาท) เนื่องจากเฟซบุ๊กแอบตรวจจับข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ เช่น เพศ ทัศนคติทางการเมืองและความเชื่อทางศาสนา เพื่อนำไปใช้สำหรับการทำโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า หน่วยงานรัฐบาลเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การตรวจจับข้อมูลผู้ใช้สำหรับการทำโฆษณา นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของเยอรมนีกำลังดำเนินการสอบสวนอย่างใกล้ชิดว่า เฟซบุ๊กทำลายการแข่งขันทางธุรกิจผ่านการละเมิดกฎปกป้องข้อมูลผู้ใช้งานหรือไม่

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กไม่ใช่บริษัทสหรัฐเพียงแห่งเดียวที่เป็นเป้าหมายการสอบสวนการผูกขาดตลาดของอียู โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ศาลสูงสุดของเยอรมนี ตัดสินว่าบริการ “อูเบอร์ แบล็ก” ของ อูเบอร์ ผู้ให้บริการไรด์-แชริ่งจากสหรัฐ ละเมิดกฎการแข่งขันทางธุรกิจของเยอรมนี เนื่องจากอูเบอร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดหาบริการรับส่งผู้โดยสารให้แก่คนขับรถโดยตรง ขัดกับกฎหมายของเยอรมนีที่กำหนดให้บริษัทรถเป็นตัวกลางดำเนินการจัดหาบริการดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทางเยอรมนียังต้องรอความชัดเจนจากศาลสูงยุโรปก่อนประกาศคำตัดสินขั้นสุดท้าย

ยุโรปเล็งคุมเข้มยักษ์ไอที

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กำลังพิจารณาออกกฎระเบียบใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทสหรัฐที่ครอบครองฐานข้อมูลลูกค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น กูเกิล อเมซอน และทริปแอดไวเซอร์ เว็บไซต์ให้บริการด้านการท่องเที่ยวของสหรัฐ อาศัยข้อได้เปรียบด้านข้อมูลมาบีบให้บริษัทขนาดเล็กกว่ายอมทำข้อตกลงธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของอีซี เกิดขึ้นหลัง สปอติฟาย ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเพลงจากสวีเดน ร่วมกับบริษัทธุรกิจอินเทอร์เน็ตหลายแห่งในยุโรป ยื่นจดหมายเรียกร้องให้อีซีจัดการกับแนวทางการทำธุรกิจของบริษัทสหรัฐรายใหญ่ ที่อาศัยความได้เปรียบในการเข้าถึงลูกค้าบั่นทอนการแข่งขันทางธุรกิจ

แม้สปอติฟายไม่ได้ระบุชื่อบริษัท แต่ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า จดหมายดังกล่าวสื่อถึง แอปเปิ้ล และกูเกิล ยักษ์ไอทีสัญชาติสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการส่วนใหญ่บนสมาร์ทโฟน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 90% เนื่องจากจดหมายระบุว่า บริษัทเจ้าของระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟน ร้านจำหน่ายแอพพลิเคชั่น และเสิร์ชเอนจิ้น ได้เปลี่ยนจากการเป็น “ประตูเปิดทาง” สู่ “ยามเฝ้าประตู” สกัดบริษัทอื่นๆ ไม่ให้มาแข่งขันกับบริการของบริษัทตน โดยการที่กูเกิลและแอปเปิ้ลครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนนั้น หมายความว่า หากเอกชนรายอื่นๆ ไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของทั้งสองบริษัท ก็เสี่ยงที่จะไม่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการแก่ลูกค้าได้

ทั้งนี้ การเดินหน้าคุมเข้มบริษัทไอทีรายใหญ่ของสหรัฐ ยังเกิดขึ้นขณะที่อียูกำลังพิจารณาผลักดันโครงการ ดิจิทัล ซิงเกิ้ล มาร์เก็ต (Digital Single Market) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายถ่ายโอนระบบตลาดเดียวของอียูทั้งในด้านสินค้าและบริการเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมกับการพยายามสนับสนุนการตั้งบริษัทธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี รวมถึงผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ แชริ่งอีโคโนมี เพื่อกระตุ้นการสร้างงานภายในภูมิภาค