posttoday

ความจริงเรื่องเอกราช-อธิปไตยไซเบอร์ของไทยกับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

17 พฤษภาคม 2560

Thailand 4.0 จำเป็นต้อง Upgrade Digital Literacy ให้เป็น คนไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน

โดย...ปริญญา หอมเอนก ACIS/Cybertron Cybersecurity Research LAB  CIS Professional Center Co., Ltd. and Cybertron Co., Ltd.

จากกระแส “Digital Disruption” และ “Digital Transformation” ทั่วโลก ทำให้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของโลกมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำว่า " Digital Transformation" หรือ "Digital Disruption" เป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ ปัจจัยทั้ง 4 ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลดังกล่าวได้แก่ The Four IT Mega Trends in S-M-C-I Era (ดูรูปที่ 1)

 

ความจริงเรื่องเอกราช-อธิปไตยไซเบอร์ของไทยกับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

 

 

ความจริงเรื่องเอกราช-อธิปไตยไซเบอร์ของไทยกับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากปัจจัยทั้งสี่ดังกล่าวจึงมีผลกระทบเกิดขึ้นใน 3 ระดับได้แก่ ระดับบุคคลและครอบครัว  ระดับองค์กร และระดับประเทศ ไปถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ (National Security) ปัจจุบันประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยในดินแดนของประเทศเราในเชิงกายภาพ (Physical) แต่หลังจากระบบอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการติดต่อสื่อสารของคนไทยในหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟน และโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนไทย ทำให้มีการเก็บข้อมูลคนไทยทั้งประเทศไว้ในระบบคลาวด์  โดยส่งผ่านจากทางสมาร์ทโฟนและโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น Facebook, Youtube และ Line 

ณ เวลาที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความ พฤษภาคม พ.ศ. 2560 มีคนไทยใช้งานสมาร์ทโฟนกว่าหนึ่งร้อยล้านเครื่อง เฉลี่ยใช้งานวันละ 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยโปรแกรมยอดนิยมคงหนีไม่พ้นสามโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดปรากฎการณ์มหกรรมการเก็บข้อมูลของคนไทยเข้าสู่ระบบคลาวด์ของบริษัทผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลายทำให้มีการจัดเก็บเกิดการเก็บพฤติกรรมผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องทั้งที่ผู้ใช้ทราบและไม่ทราบมาก่อน  ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งการใช้งาน (User Location) , พฤติกรรมการค้นหาข้อมูล (User Search Behavior and Search Keyword) พฤติกรรมการเข้าชมภาพและวิดีโอ ตลอดจนพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เช่น การจองโรงแรม การจองตั๋วเครื่องบิน ทำให้ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ตกอยู่ในมือของผู้ให้บริการการค้นหาข้อมูล และ ผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ มีกลไกในการวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลของเรา โดยใช้เทคโนโลยี่ Big Data Analytic และ Machine Learning  ทำให้ผู้ให้บริการสามารถล่วงรู้พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สมาร์ทโฟน การค้นหาข้อมูล การใช้โปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ การรับรู้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทำให้ผู้ให้บริการสามารถทราบถึง "Digital Lifestyle" ของผู้คนอย่างไม่ยากเย็นนักจากข้อมูลที่เราเองเป็นคนใส่ข้อมูลเข้าไปในระบบทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือปัญหา "Cyber Sovereignty" หรือ "ความเป็นเอกราชทางไซเบอร์" ของผู้คนในประเทศตลอดจนไปถึงปัญหาความมั่นคงของชาติ (National Security) ซึ่งคนไทยเองส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกละเมิดในเรื่อง "Cyber Sovereignty"   เนื่องจากปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนอยู่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย ทำให้ผู้ให้บริการที่เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ และ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการตลาดได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการขาดรายได้ของรัฐบาลไทยจากการจัดเก็บภาษีจากยอดเงินในระดับหมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีผู้ให้บริการได้อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากผู้ให้บริการทำการ Settlement Payment โดยการใช้ Payment Gateway นอกประเทศไทย เป็นต้น

จึงมีผู้กล่าวเปรียบเปรยได้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตประจำวันอยู่ใน "The Matrix" หลายท่านอาจกำลังนึกถึงนวนิยายไซไฟ แต่จริงๆแล้วเรากำลังอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคนมีความเกี่ยวพันกับ S-M-C-I อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. ซึ่งเปรียบเหมือนเรากำลังอยู่ใน "สภาวะไซเบอร์" ซึ่งปัจจัยทั้งสี่ S-M-C-I กำลังมีผลกับเราอย่างไม่รู้ตัว โดยปัจจุบันคนไทยมี Facebook Account มากกว่า 42 ล้าน และ LINE Account มากกว่า 33 ล้าน โดยมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องในแทบทุกวัน เรียกได้ว่าเป็น "New Platform" ที่คนไทยกำลังใช้ในการติดต่อสื่อสารกันแทนการใช้งานเทคโนโลยีในอดีต

 

ความจริงเรื่องเอกราช-อธิปไตยไซเบอร์ของไทยกับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

หลายท่านอาจยังไม่ทราบอีกว่า การใช้งานโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือการใช้งาน "Search Engine" ในการสืบหาข้อมูลนั้น หลายครั้งที่เราค้นหาข้อมูลอะไรบางอย่าง จากนั้นในเวลาไม่นานนักกลับมีการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆกลับมาหาเราได้อย่างตรงใจเราเหมือนว่าระบบนั้นรู้ใจเราเป็นพิเศษ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ เราเรียกว่า "Filter Bubble Effect"  ที่ระบบจะแสดงผลลัพธ์การค้นหาข้อมูล เป็นไปตาม "Digital Lifestyle" ของเรา ยกตัวอย่าง เช่น คนสองคน ค้นหาคำๆเดียวกัน แต่ผลลัพธ์อาจจะไม่เหมือนกัน ท่านผู้อ่านลองค้นคำว่า "Hotel Bangkok" จากมือถือหรือคอมพิวเตอร์พร้อมๆกัน จะพบว่าระบบจะแสดงผลลัพธ์เสนอโรงแรมมาให้เราเลือกไม่เหมือนกันในเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องแปลกแต่จริง

ปัญหาจากปรากฏการณ์ "Fitter Bubble Effect" ของโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์และโปรแกรมค้นหาข้อมูลต่างๆก็คือ เราจะได้รับข้อมูลที่ต่างจากข้อมูลความเป็นจริง โดยเราจะได้รับข้อมูลที่ตรงกับใจเราเป็นส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่าโปรแกรมดังกล่าวก่อให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "Echo Chamber Effect" คือผลลัพธ์ที่ระบบแสดงออกมามักจะเป็นไปในทางเดียวกัน เช่น เป็น comment เชิงบวกจาก post social ของเรา โดยเราจะไม่ค่อยเห็น post หรือ comment ที่แตกต่างหรือขัดแย้งไปจากความคิดของเรา ทำให้เราไม่สามารถที่จะรับรู้ความจริงที่อาจจะตรงกันข้ามกับผลลัพธ์ที่เราเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย กล่าวได้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อการตัดสินใจ ความเชื่อ ความคิด ความต้องการในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มีผลกับแบรนด์ มีผลกับชื่อเสียงของบุคคลและองค์กร มีผลต่อความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการต่างๆ เมื่อกระแสพาไป ทำให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน

 

ความจริงเรื่องเอกราช-อธิปไตยไซเบอร์ของไทยกับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

Thailand 4.0 จำเป็นต้อง Upgrade Digital Literacy ให้เป็น คนไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการใช้งานโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงจำเป็นต้องใช้งานอย่าง "มีสติ" และ "รู้เท่าทัน" เรียกว่าเราจำเป็นต้องมี "Digital Literacy" ที่ดีในระดับหนึ่ง ไม่หลงในกระแสโซเชียล ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะรู้เท่าทันภัยมืดดังกล่าว แม้กระทั่งผู้ใหญ่อย่างเราท่านบางครั้งยังมีความคิดตามไปกับกระแสโซเชียลอันเชี่ยวกรากเลยด้วยซ้ำไป ประโยชน์จึงไปตกอยู่ในมือผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาโปรโมทสินค้าและบริการ เราจึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจในสองปรากฎการณ์ดังกล่าวเพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อความเข้าใจที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างไม่รู้ตัว

 

ความจริงเรื่องเอกราช-อธิปไตยไซเบอร์ของไทยกับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

จึงไม่น่าแปลกใจที่อาชีพที่กำลัง Hot Hit ที่สุดใน Silicon Valley ขณะนี้ก็คือ "Data Scientist" และ "Machine Learning Expert" ยกตัวอย่างใน Agoda หรือ Booking ซึ่งเป็นเว็บไซต์และโมบายแอพชื่อดังในการจองโรงแรม กำลังรับสมัครพนักงานในสาขานี้ เพื่อจะได้เสริมกำลังในการนำเสนอโรงแรมให้ตรงกับใจและพฤติกรรมของลูกค้าให้มากที่สุด โดยหลายท่านเคยพบกับประสบการณ์ในการเลือกชมสินค้าซ้ำๆกันหลายครั้งพบว่า หลังจากเข้าไปชม เข้าไปเลือกสินค้าและบริการดังกล่าวหลายครั้ง พอถึงเวลาจะซื้อจริงๆพบว่าราคาเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ แต่หลังจากที่ลองเปลี่ยน Internet Browser พบว่าราคากลับเข้าสู่ราคาปกติ นับเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับ Data Scientist ถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ผู้ใช้บริการควรรู้เท่าทันวิธีการดังกล่าว และ ร่วมกันเรียกร้องสิทธิในการนำข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่ไม่ควรจะถูกละเมิดไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือนำไปใช้ทางการตลาดโดยไม่บอกกล่าวเล่าสิบต่อเจ้าของข้อมูลเสียก่อน

กล่าวโดยสรุป ปัญหาด้าน "Privacy" กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันที่กำลังคืบคลานเข้ามาแบบเงียบๆ และปัญหาด้าน "Privacy"  จะหนักว่าปัญหาด้าน "Security" ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นปรับปรุง "Digital Literacy" ของเราในการใช้งานโซเชียลมีเดีย และ สมาร์ทโฟนต่างๆที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันให้ "รู้เท่าทัน" เทคโนโลยีที่กำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของมนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งในมุม “เศรษฐศาสตร์” และ ในมุม "ความมั่นคงของชาติ" ที่รัฐบาลก็จำเป็นต้อง "ตื่นตัว" และ "ระวัง" ให้มากขึ้นกว่าเดิม พร้อมรับต่อ “Digital Disruption Effect”  เพื่อให้ประเทศไทยของเราเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่าง มั่งคั่ง มั่นคง และ ยั่งยืน สมดังที่ตั้งใจไว้ และ อย่าลืมว่า “Thailand 4.0 จำเป็นต้อง Upgrade Digital Literacy ให้เป็น คนไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน”

ความจริงเรื่องเอกราช-อธิปไตยไซเบอร์ของไทยกับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค “Data Economy” ที่ผู้ผลิตและผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่กำลังใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เราช่วยกันใส่เข้าไปในระบบอย่างเต็มที่ เปรียบเสมือนกำลังขุดเจาะน้ำมัน แต่หาใช่บ่อน้ำมันไม่ กลับเป็นบ่อข้อมูลที่ผู้ผลิตและผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่กำลังขุดเจาะกันอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง สมกับคำกล่าวที่ว่า “Data is a new oil of Digital Economy”