posttoday

แอร์เอเชียหนุนระบบรางแวะจอด อำนวยความสะดวกเชื่อม 3 สนามบิน

08 พฤษภาคม 2560

แอร์เอเชีย ชี้มีระบบรางมาตรฐานแวะจอดระหว่างทางได้ เพียงพอกับการเพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมต่อ 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา

แอร์เอเชีย ชี้มีระบบรางมาตรฐานแวะจอดระหว่างทางได้ เพียงพอกับการเพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมต่อ 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า หากรัฐต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยต้องการให้มีระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภานั้น สำหรับแอร์เอเชียมองว่าหากมีระบบรางที่มีมาตรฐานเข้ามาย่อมเป็นผลดี ไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง แต่เป็นระบบรางที่มีจุดแวะพักระหว่างทางได้บ้างก็เพียงพออำนวยความสะดวกเชื่อมต่อการเดินทาง 3 สนามบินได้มีประสิทธิภาพแล้ว

สำหรับกรณีที่รัฐส่งเสริมการลงทุนด้านการบินโดยใช้สนามบินอู่ตะเภาขับเคลื่อนการลงทุนตามแผนส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)นั้น ในส่วนของแอร์เอเชียมองเห็นศักยภาพอู่ตะเภามาก่อนแล้ว จึงเริ่มใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานการบินก่อนที่รัฐจะมีประเด็นอีอีซี โดยอู่ตะเภาเป็นหนึ่งในฐานการบินของไทยแอร์เอเชีย

ขณะที่ปัจจุบันแอร์เอเชียมีบริการเส้นทางบินจากอู่ตะเภาทั้งหมด 9 เส้นทาง ในจำนวนนี้เป็นเส้นทางที่ให้บริการโดยไทยแอร์เอเชีย 8 เส้นทาง และแอร์เอเชียมาเลเซีย 1 เส้นทาง ซึ่งเชื่อมการเดินทางไปยังในประเทศ 5 เส้นทาง คือ เชียงใหม่ อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต หาดใหญ่ และต่างประเทศ 4 เส้นทาง คือ หนานหนิง และหนานชาง ในจีน รวมถึงมาเก๊า และกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้ กลุ่มแอร์เอเชียประกาศสถิติการปฏิบัติการไตรมาสแรกออกมา ทั้งกลุ่มมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (โหลดแฟกเตอร์) 89% เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มียอดผู้โดยสารรวม 15.23 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9% ทำโหลดแฟกเตอร์ได้ 89% เพิ่มขึ้น 1% มียอดผู้โดยสาร 4.85 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% สูงกว่าจำนวนที่นั่งที่เพิ่ม 9% เปิดเส้นทางบินใหม่เพิ่ม 2 เส้นทางในประเทศ คืออู่ตะเภา-อุบลราชธานี และอู่ตะเภา-ภูเก็ต เพิ่มความถี่เส้นทาง ดอนเมือง-มัณฑะเลย์ ส่วนการรับมอบเครื่องบินใหม่รับเพิ่มมา 2 ลำ ทำให้มีฝูงบินเพิ่มเป็น 53 ลำ

ด้านสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) เปิดเผยว่า สถิติขนส่งของสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เติบโต 9.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวนที่นั่งรองรับผู้โดยสารเพิ่ม 7.4% อัตราบรรทุกเฉลี่ย 78.7% เพิ่ม 1.2% โดยการเติบโตด้านการบินในภูมิภาคนี้มาจากการเดินทางเส้นทางเชื่อมต่อเอเชีย-ยุโรป ฟื้นตัวจากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบภัยก่อการร้าย