posttoday

วิดีโอออนดีมานด์แข่งดุ รับเทรนด์ดิจิทัลไลฟ์

04 พฤษภาคม 2560

ส่องตลาดไอทีเจนบีรอวันเกิด ติดเล่นแชตก้าวสู่โลกเอไอ

เรื่อง | ทีมข่าวการตลาดไอที

นับว่าเป็นปีแห่งการแข่งขันสำหรับกลุ่มธุรกิจการ รับชมคอนเทนต์ตามความต้องการของผู้ใช้งาน หรือวิดีโอออนดีมานด์ (Video on Demand : VOD) ที่ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการทั้งรายเล็กและใหญ่ตบเท้าเข้ามาให้บริการในไทยมีทั้ง อยู่รอดและปิดตัวลงไป จนในปัจจุบันเหลือผู้ให้บริการเพียง 6 ราย คือ ไอฟลิกซ์ (iflix) ฮอลลีวู้ดเอชดี (Hollywood HD) ไพรม์ไทม์ (Primetime) ฮุค (HOOQ)เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) โมโนแม็กซ์ (Mono maxxx) และดูนี่ (Doonee) ที่ยังให้บริการอยู่ในขณะนี้

อาทิมา สุรพงษ์ชัย หัวหน้าฝ่าย การตลาด บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นดูหนังออนไลน์ กล่าวว่า คนไทยมีความนิยมในการรับชม คอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยอุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและสมาร์ททีวีเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจของคนกลุ่มนี้คือ ต้องการคอนเทนต์ที่ตรงใจ เลือกได้เอง มีหลากหลายและเก็บไว้ดูภายหลังได้

การรับชมแบบทันทีอาจติดปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต คนไทยจึงนิยมที่จะดาวน์โหลดมาเก็บไว้เพื่อรับชมในอุปกรณ์สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์พีซีหรือทีวีก็ตาม เพื่อให้สามารถรับชมคอนเทนต์ได้อย่างไม่สะดุด และผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมในลักษณะนี้ที่คล้ายคลึงกันกับผู้ให้บริการเกือบทุกราย

ทั้งนี้ ไอฟลิกซ์มั่นใจในจุดแข็งว่ามี จำนวนคอนเทนต์มากที่สุดและตั้งแต่เปิดให้บริการมามีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 5 ล้านรายในไทย 1 ล้านรายเป็นยอดแอ็กทีฟครึ่งหนึ่ง การเดินกลยุทธ์ร่วมกับพาร์ตเนอร์จำนวนมากในปีนี้จะทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าได้ไม่ยาก

"การเข้าใช้งานได้ง่ายและมีจำนวนภาพยนตร์ ซีรี่ส์และการ์ตูนที่มากที่สุดถึง 3 หมื่น ชม. ถือว่าเป็นจุดแข็งของไอฟลิกซ์ แต่วัตถุประสงค์หลักของ ไอฟลิกซ์ในการเพิ่มคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ชมชาวไทยนั้น ไม่ใช่การแข่งขันกับผู้ให้บริการแบบเดียวกันแต่เป็นการแข่งขันกับเว็บผี ซีดีเถื่อนให้หมดไป รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ใช้งานรับชมคอนเทนต์แบบถูกลิขสิทธิ์ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบซื้อขายหนังแบบ ผิดกฏหมายด้วย" อาทิมา กล่าว

นอกจากนี้ ความต้องการของผู้ใช้งานในการรับชมคอนเทนต์ต่างประเทศ คือ คำบรรยาย เพราะคนไทยไม่ได้เก่งภาษาที่ 2 หรือ 3 มากนัก แต่คอนเทนต์ที่มีทั้งภาษาอังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากดังนั้นการแปลบทบรรยายให้รวดเร็วของผู้ให้บริการทุกรายจะทำให้การรับชมเป็นไปอย่างต่อเนื่องถือว่าเป็นเหตุผลหลักที่ลูกค้าจะเลือกใช้บริการ

ชานตา อารูล ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี เอเชีย เน็ตฟลิกซ์ กล่าวว่า เน็ตฟลิกซ์ทดลองให้บริการในไทยมาแล้วกว่า 1 ปี เหตุผลที่ยังไม่เปิดตัวชัดเจนเพราะต้องการเรียนรู้ตลาดและแปลเนื้อหาคอนเทนต์ให้ทันต่อความต้องการของตลาด เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ จึงแสดงความมั่นใจว่าจะบุกตลาดไทยอย่างเต็มที่ แม้จะยังไม่มีแผนตั้งออฟฟิศในไทยแต่ก็มั่นใจได้ว่าลูกค้าที่มีปัญหา

สำหรับผู้ให้บริการดูหนังออนไลน์ฮอลลีวู้ด พิรุฬห์ พิหเคนทร์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอลลีวูด มูฟวีส์ เอจี กล่าวว่า การแข่งขันของธุรกิจวิดีโอออนดีมานต์ ทุกค่ายใช้กลยุทธ์เดียวกัน คือ การมีคอนเทนต์ที่ดีและในลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ นอกจากนี้ยังแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือการ ดูคอนเทนต์ได้มีอรรถรสยิ่งขึ้น บริษัทได้ลงทุน 1,000 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ หนังเพื่อเสริมคอนเทนต์ให้แข็งแกร่งจากปัจจุบันมีกว่า 2,000 เรื่อง

พร้อมกันนี้ เปิดตัวอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ดอท (DOT) ในไตรมาส 3 โดยผนึกกับพันธมิตร อาย ไอโอ (eye Io) พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกจากซิลิคอน วัลเลย์ ช่วยบีบอัดข้อมูลช่วยให้การดาวน์โหลดหนังแต่ละเรื่องเร็ว 0.1 วินาที จากปกติดาวน์โหลด 4 วินาที และยังรับชมไลฟ์ทีวีกว่า 50 ช่อง ช่องเอ็กซ์คลูซีฟ 5 ช่องเพื่อตอบโจทย์การดูหนังบนทีวีภายในบ้าน ขยายฐาน ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียม จากเดิมการดูหนังผ่านมือถือ โน้ตบุ๊กสำหรับรายได้ทั้งปีตั้งเป้า 1,000 ล้านบาท เติบโต 100% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 500 ล้านบาท
 
ต้องติดตามว่าผู้ให้บริการรายใดจะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดได้มากที่สุดในยุคที่การแข่งขันแบบดิจิทัลดุเดือดขนาดนี้