posttoday

แรงงานกลุ่มเสี่ยง ในยุคไทยแลนด์4.0

28 เมษายน 2560

สภานายจ้างฯ ชี้ปรับโครงสร้างแรงงานไทยยุค 4.0 เป็นเรื่องท้าทาย ระบุ 5 กลุ่มเสี่ยงแรงงานรับผลกระทบในอนาคต

สภานายจ้างฯ ชี้ปรับโครงสร้างแรงงานไทยยุค 4.0 เป็นเรื่องท้าทาย ระบุ 5 กลุ่มเสี่ยงแรงงานรับผลกระทบในอนาคต

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวภายในงานเสวนา เรื่อง "ไทยแลนด์ 4.0 การจ้างงานและการปรับตัวก้าวผ่านสู่การเปลี่ยนแปลง" ว่าจากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 โดยเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมจากภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย ซึ่งเป็นความท้าทายมาก เพราะเข้ามาในจังหวะที่อุตสาหกรรมไทยอยู่ในช่วงรอยต่อของข้อจำกัดของศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดน้อยลง

ทั้งนี้ การเข้าสู่เศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 จะต้องพิจารณาถึงโครงสร้างแรงงานของไทยด้วย เพราะแรงงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมและการบริโภค โดยแรงงานกลุ่มนี้อาจกลายเป็นแรงงานที่อยู่นอกขอบการพัฒนา ซึ่งจะมีผล ต่อการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต โดยจุดแข็งของไทยที่เคยมีก็จะลดน้อยลง โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านแรงงานการผลิตที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนได้ยกระดับศักยภาพการผลิตขึ้นมาใกล้เคียงกับไทยแต่มี ต้นทุนต่ำกว่า ทำให้อีกไม่ช้าจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจาก ต่างประเทศแทนไทยได้

ขณะที่แนวทางการก้าวผ่านสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในการปรับเปลี่ยนช่วงรอยต่อควรมีการประเมินถึงผลกระทบด้วย ซึ่งยังพบว่าอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ 80% ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 โดยโครงสร้างแรงงานไทยในอนาคตจะติดกับดักใน เรื่องของการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การศึกษาขั้นต่ำลดน้อยลง และทักษะฝีมือแรงงานต่ำ อาจทำให้แรงงานกลุ่มนี้ในอนาคตเป็นแรงงานที่ตกขอบ ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการเข้ามาพัฒนา

สำหรับแรงงานที่อยู่กลุ่มเสี่ยงจากการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 เช่น 1.แรงงานไร้ทักษะที่ไม่มีศักยภาพ ไม่พร้อมที่จะพัฒนา 2.แรงงานกลุ่มค้าปลีกที่อนาคตอี-คอมเมิร์ซจะเข้ามาแทนที่ 3.แรงงานภาคธุรกิจบริการ เช่น สถาบันการเงิน โรงแรม พนักงานรักษาความปลอดภัย 4.แรงงานธุรกิจโลจิสติกส์ และ 5.กลุ่มธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์