posttoday

กระทรวงเกษตรฯเตรียมออกกฎคุมเข้มสหกรณ์1มิ.ย.

23 เมษายน 2560

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมออกกฎกระทรวง พร้อมระเบียบนายทะเบียนคุมเข้มธุรกรรมสหกรณ์ออมทรัพย์ บังคับใช้1 มิ.ย. ตามที่คลังแนะนำ

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมออกกฎกระทรวง พร้อมระเบียบนายทะเบียนคุมเข้มธุรกรรมสหกรณ์ออมทรัพย์ บังคับใช้1 มิ.ย. ตามที่คลังแนะนำ

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการยกร่างเกณฑ์ที่จะประกาศใช้ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา เพื่อบังคับใช้กับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศ โดยกรมจะออกเป็นกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงประกาศนายทะเบียนสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบางประเด็นจะแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ล่าสุดกรมได้ประชุมร่วมกับ 2 หน่วยงานแล้ว 2 ครั้งในเดือนที่ผ่านมา และจะประชุมอีกครั้งกับ ธปท. ในวันที่  24 เม.ย.นี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือน พ.ค. และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ แนวทางการยกร่างเกณฑ์จะประกอบด้วย 4 แนวทางในการดูแล ประกอบด้วย 1.การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล ที่จะกำหนดให้กรรมการสหกรณ์ขนาดใหญ่อย่างน้อย 3 คนมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินการบริหารจัดการ และการบัญชี ซึ่งข้อนี้จะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการแก้ไข และให้มีคณะกรรมการชุดย่อยที่เชี่ยวชาญ 5 ด้าน คือ การตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ต้องมีอนุกรรมการสินเชื่อด้านการลงทุน และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินเพื่อถ่วงดุลกรรมการ

นอกจากนี้ ยังต้องมีการเปิดเผยทรัพย์สินของกรรมการและผู้จัดการให้สมาชิกรับทราบ การเปิดเผยงบดุลของสหกรณ์ และให้มีผู้สอบบัญชีสหกรณ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นชอบ

ส่วนเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินปันผลของสหกรณ์จะเสนอให้ออกเป็นกฎกระทรวง รวมทั้งปรับปรุงประกาศนายทะเบียนให้สมาชิกสมทบเป็นเพียงบิดา มารดา และบุตรเท่านั้น จากเดิมให้นำคนนอกเข้ามาเป็นสมาชิกสมทบได้

ขณะที่แนวทางที่ 2 คือ การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเครดิต กำหนดให้มีการจัดชั้นสินเชื่อและกันสำรอง เพื่อให้สะท้อนสถานะทางการเงินของสหกรณ์และลูกหนี้ ขณะที่การให้เงินกู้สมาชิกสมทบต้องไม่เกินมูลค่าหุ้นรวมกับเงินฝากและภาระหนี้ต่อรายได้ รวมไม่เกิน 70% และอัตราหนี้สินต่อทุนของสหกรณ์ไม่เกิน 1.5 เท่า สำหรับการต่ออายุหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อป้องกันการให้สินเชื่อวนซ้ำ โดยออกเป็นระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์

นอกจากนั้น จะออกระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์กำหนดวงเงินกู้สมาชิก เช่น ลูกหนี้รายใหญ่ที่เป็นสมาชิกกู้ได้ไม่เกิน100 เท่าของรายได้รวม และให้กู้กับสหกรณ์หนึ่งไม่เกิน 10% ของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกิน 15 ล้านบาทถ้าไม่มีหลักประกัน

สำหรับแนวทางด้านที่ 3 การกำกับดูแลด้านสภาพคล่อง ให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 6% ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม โดยปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง พ.ศ. 2550 โดยกรมจะออกคำแนะนำให้สหกรณ์กำหนดในข้อบังคับหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และให้สหกรณ์ขนาดใหญ่ส่งรายงานแบบข้อมูลสภาพคล่อง และแนวทางที่ 4 การกำกับดูแลด้านปฏิบัติการ ให้กรมออกคำแนะนำให้สหกรณ์กำหนดในข้อบังคับเรื่องระบบการจัดเก็บข้อมูล การติดตามประเมินผล และให้แต่ละสหกรณ์ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายใน

ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ (ฉบับที่...) และให้ ธปท.มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา มีอำนาจสั่งแก้ไข ระงับ หากพบความเสียหายต่อประชาชน และขอให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้คณะกรรมการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งเลิกสหกรณ์ได้ นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำนวน 2,006 แห่ง สินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาท