posttoday

ค้าปลีกกลางกรุงส่อโอเวอร์ซัพพลาย

19 เมษายน 2560

ผู้ประกอบการอาจต้องปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการหันไปดึงลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาช็อปปิ้งใน กทม.

โดย...จะเรียม สำรวจ

ถือเป็นปีที่ธุรกิจค้าปลีกมีความคึกคักมากเลยทีเดียวสำหรับปี 2560 นี้ เพราะเพียงแค่ไตรมาสแรกของปีก็มีโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ออกมาประกาศตัวถึง 2 โครงการด้วยกัน คือ โครงการวัน แบงค็อก ของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี บนที่ดินเตรียมทหารเดิมจำนวน 104 ไร่ และโครงการมิกซ์ยูสของโรงแรมอย่างโรงแรมดุสิต กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น บนที่ดิน 23 ไร่ มุมถนนสีลม-พระราม 4

นอกจากนี้ยังจะมีโครงการของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ดีเวลลอปเม้นท์ หรือโกลเด้นแลนด์ จับมือร่วมกับบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) ทำโครงการสามย่านมิตรทาวน์ บนพื้นที่กว่า 13 ไร่ บริเวณสามย่าน และโครงการหลังสวน วิลเลจ ของบริษัท สยามสินธร รวมไปถึงโครงการไอคอนสยามของบริษัท สยามพิวรรธน์ ที่ได้เปิดตัวไปก่อนหน้านี้

ชลิต ลิมปนะเวช อุปนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่จำนวนมากในกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยส่วนตัวมองว่าทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกใน กทม.ดูตึงๆ หรือเข้าข่ายโอเวอร์ซัพพลาย เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคมีอยู่เท่าเดิม แต่จำนวนศูนย์การค้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวในมุมของผู้ประกอบการอาจไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยเช่นพื้นที่

แต่สำหรับร้านค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่นั้น มองว่าได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ถ้ากำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าร้านค้ารายใหญ่มีสายป่านที่ไม่ยาวพอ หรือมีร้านที่จำหน่ายสินค้าเพียงร้านเดียวหากจำหน่ายสินค้าได้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ อาจทำให้ต้องปิดกิจการไป เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นทุกวันได้

ชลิต กล่าวว่า ในส่วนของร้านค้ารายใหญ่ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีจำนวนสาขาจำนวนมาก หากร้านไหนขายไม่ดี ก็สามารถนำกำไรของสาขาที่ขายดีมาชดเชยกับสาขาที่ขายไม่ดีได้ แต่สำหรับรายเล็กไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวในส่วนของผู้ประกอบการศูนย์การค้าเองไม่น่ามีปัญหา เพราะหากผู้เช่ารายเก่าออกไปก็สามารถหารายใหม่เข้ามาทดแทนได้ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ร้านค้าส่วนใหญ่อยากเข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วย

ด้าน เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ กล่าวว่า ภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคในขณะนี้เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ซึ่งจากการที่ตอนนี้ กทม.เกิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบนถนนพระราม 4 อาจทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายได้ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีอยู่จำกัด

จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจต้องปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการหันไปดึงลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาช็อปปิ้งใน กทม. ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการศูนย์การค้าแต่ละแห่งก็ต้องสร้างตำแหน่ง หรือโพสิชั่นนิ่งของตัวเองให้ชัดเจน