posttoday

ดิจิทัลคอนเทนต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

14 เมษายน 2560

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ในปี 2558 พบว่า มูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ถือว่าเติบโตขึ้นมาก

 โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ในปี 2558 พบว่า มูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ถือว่าเติบโตขึ้นมาก ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งผลักดันเรื่องสินค้าลิขสิทธิ์ของไทยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้

มนต์ชัย ศรีเจริญศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด 2 สำนักงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เผยว่า ดิจิทัลคอนเทนต์เป็น 1 ใน 5 ของ New S Curve ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้านองค์กรอุตสาหกรรมการใช้ลิขสิทธิ์ระดับโลก หรือ LIMA ระบุว่า ตลาดภูมิภาคเอเชียโตสวนกระแสและไทยมีอัตราขยายตัวสูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับที่ 37 ของโลก

ทั้งนี้ ดิจิทัลคอนเทนต์ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย รถยนต์ ที่มีการพัฒนาระบบการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่มีการเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งระบบจองตั๋วและที่พักออนไลน์ บริการสาธารณสุข เช่น โครงการอี-เฮลท์ที่ร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุข ขยายโอกาสเข้าถึงแพทย์ไปยังพื้นที่ชนบทโดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล ผ่านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องประสานงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน และมีการนำเครื่องมือดิจิทัลไปสร้างระบบการจำลองการผ่าตัด เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย

กลุ่มเกษตรกรรมที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาผลผลิตและส่งขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ ช่วยให้ชุมชนรู้จักใช้ไอทีในการทำตลาดและขยายสินค้า สร้างอี-มาร์เก็ตเพลสให้ชุมชน และสุดท้ายคือ ดิจิทัลคอนเทนต์ ที่นักสร้างสรรค์ของไทยมีฝีมือในการส่งออกและเติบโตจนสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีศักยภาพ ทำให้ได้รับการยอมรับระดับสากลในการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ ที่มีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 1,500 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยถือว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยไปสู่ระดับโลกได้เพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างการดึงอุตสาหกรรมอย่างดิจิทัลคอนเทนต์มาเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซนั้น เช่น การให้ผู้ใช้บริการรับชมภาพยนตร์แบบออนไลน์หรือซื้อบริการชมภาพยนตร์แบบออนดีมานด์ ทำให้เกิดการกระจายคอนเทนต์ไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ ตามพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกัน คือระหว่างมือถือกับพีซี มือถือกับแท็บเล็ตหรือสมาร์ททีวีก็เป็นได้

ดังนั้น ผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น เกม แอนิเมชั่น ยังช่วยเสริมเจ้าของดิจิทัลทีวีช่องต่างๆ ที่มีความต้องการคอนเทนต์เพื่อให้บริการแก่ผู้ชมอีกมาก เพราะที่ผ่านมาคอนเทนต์ของไทยยังไม่มีการข้ามแพลตฟอร์มของคอนเทนต์ (Cross-platform) จากการออกอากาศแบบดั้งเดิม (Traditional broadcast) ไปสู่ออนไลน์ ทั้งที่ตลาดยังมีความต้องการดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภค

ทั้งนี้ จากการสำรวจภาพรวมตลาดการซื้อขายสินค้าลิขสิทธิ์ปี 2558 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 2.517 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 8 ล้านล้านบาท หากผู้ประกอบการสามารถเข้าได้จะช่วยเสริมช่องทางการเพิ่มรายได้จากธุรกิจไลเซนซิ่งได้ ขณะที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีรายได้จากค่าธรรมเนียม/ค่าเช่าใช้ลิขสิทธิ์ทั่วโลก ในปีดังกล่าวสูงถึง 1.39 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.88 แสนล้านบาท ในไทยมีการซื้อขายสินค้าลิขสิทธิ์ 520 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ติดอันดับ 37 ของโลก อีกทั้งมีการขยายตัวเป็นอันดับ 1 ในอัตราถึง 25.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ปัจจุบันกลุ่มสินค้าไลเซนซิ่งมีกว่า 20 ประเภท แต่กลุ่มสินค้าที่ใหญ่สุด คือ ด้านบันเทิง คิดเป็นสัดส่วน 29% โดยมีค่ายดิสนีย์เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในอุตสาหกรรมให้เช่าใช้ลิขสิทธิ์ มีส่วนแบ่ง 17% ของตลาดสินค้าลิขสิทธิ์ทั่วโลกที่มีกว่า 8 ล้านล้านบาท ตามด้วยลิขสิทธิ์ที่เป็นแบรนด์บริษัทกลุ่มแฟชั่นและกีฬา

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย สามารถต่อยอดคาแรกเตอร์หรือตัวการ์ตูนเพื่อพัฒนาสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ และขายลิขสิทธิ์สู่ตลาดต่างประเทศ ถือว่าเป็นการช่วยขยายโอกาสสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ สู่ตลาดโลก