posttoday

ถกเลือกสำรวจก๊าซฯไม่คืบ

06 เมษายน 2560

ชธ.ประมวลความเห็นจากเอกชน นักวิชาการหนุนระบบสัมปทานเหมาะสมสุด

ชธ.ประมวลความเห็นจากเอกชน นักวิชาการหนุนระบบสัมปทานเหมาะสมสุด

โพสต์ทูเดย์ - ชธ.ระดมความเห็นเอกชนเคาะรูปแบบสำรวจแหล่งปิโตรเลียม นักวิชาการชี้สัมปทานเหมาะสมมากสุด ด้านเชฟรอนรอดูความชัดเจน

นายวีระศักดิ์  พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) หรือสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) ว่าการหารือเบื้องต้นเป็นการประมวลภาพรวมการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งยังไม่มีการเจาะจงว่าเป็นการหารือเพื่อนำไปใช้กับพื้นที่แหล่งเอราวัณ-บงกช หรือแหล่งสัมปทานรอบที่ 21 รวมทั้งยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้รูปแบบใดในการเปิดประมูล โดยต้องมีการนำมาปรับปรุงแก้ไขและเสนอ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ต่อไป

“วันนี้คุยกันเรื่องเทคนิคและหลักเกณฑ์การเข้าร่วมประมูลเท่านั้น จึงไม่มีเรื่องที่เอกชนจะเป็นห่วงเพราะยังไม่ลงรายละเอียดมากและยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้รูปแบบใด รวมถึงพื้นที่ที่จะใช้ด้วย ซึ่งเราต้องมีการนำมาปรับปรุงและเสนอให้รัฐมนตรีรับทราบอีกที  อย่างไรก็ตามหากได้ข้อสรุปแล้วต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติ ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลได้” นายวีระศักดิ์ กล่าว

 นายฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาการวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นักวิชาการมองว่าการเปิดประมูลในรูปแบบสัมปทานดีที่สุด เนื่องจากง่ายต่อการที่เอกชนจะเข้ามาลงทุน เพราะเอกชนมีอำนาจในการตัดสินใจ มีความยืดหยุ่นในการดำเนินการสูง ขณะที่การดำเนินงานภายใต้ระบบเอสซี หรือพีเอสซี ทุกอย่างจะยังเป็นของรัฐบาล ซึ่งหากจะทำอะไรก็ต้องมีการขออนุญาต และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน หากมีการตัดสินใจไม่อนุมัติเอกชนก็ไม่สามารถลงทุนได้

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของระบบที่ใช้กับปริมาณการจัดเก็บ หรือส่วนแบ่งที่ประเทศควรจะได้ จึงเข้าใจว่าพีเอสซีจะทำให้รัฐบาลได้ส่วนแบ่งเยอะ มีผลตอบแทนที่สูงกว่าระบบสัมปทาน แต่แท้จริงแล้วปริมาณตรงนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน หากใช้ระบบสัมปทานแต่มีส่วนแบ่งเยอะก็ทำได้ แต่ถ้ามากเกินไปก็จะไม่มีใครเข้ามาลงทุน ซึ่งต้องมีการกำหนดเพดานในการจัดเก็บต่างๆ ที่สามารถให้เอกชนเดินหน้าได้ไม่ว่าจะใช้ระบบใด

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต  กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเข้าร่วมการประมูลในแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ทั้งสองแหล่งเลยหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูผลสรุปจากทางรัฐบาลก่อน ทั้งนี้จากการหารือเรื่องกำหนดรูปแบบการประมูล คงจะต้องพูดคุยกันอีกครั้ง  เพราะล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวมากนัก แต่อย่างไรก็ตามบริษัทไม่มี ความกังวลในผลที่จะออกมา

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และให้บรรจุเรื่องของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ไปไว้ในส่วนของข้อสังเกตและข้อสังเกตก็เขียนไว้ว่าให้ศึกษา แต่จะเป็นหน่วยงานใดเป็นผู้ศึกษานั้นจะต้องดูกฎหมายฉบับที่ผ่าน สนช.ว่าได้ใส่รายละเอียดเกี่ยวกับข้อสังเกตว่าอย่างไร หน่วยงานใดรับผิดชอบเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในหลักการแล้วการศึกษาสามารถทำได้ทั้งแบบเตรียมการไว้ก่อนคือตั้งคณะเตรียมการขึ้นมาทำงานเลย หรือรอจนกว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ถึงจะเริ่มศึกษา ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย เช่น กรณีก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและกฎหมายปฏิรูปประเทศไว้รอเลย เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็ผลักดันกฎหมายต่อเนื่องได้เร็วขึ้น

“อยู่ที่ว่าควรจะจัดการเตรียมการศึกษาล่วงหน้าไหมและเคาะเลือกอย่างไรก็คงรอดูกฎหมายที่ผ่าน สนช.ว่าได้ระบุว่าหน่วยงานหรือใครเป็นผู้ดูแลเรื่องการศึกษา หน่วยงานนั้นก็อาจจะเป็นผู้เสนอแนวทางนั้นต่อ ครม. และผู้ที่ถูกมอบหมายตามกฎหมายก็ต้องทำให้เสร็จ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว