posttoday

พช.รณรงค์เล่นสงกรานต์แบบไทยใช้ผ้าขาวม้า

04 เมษายน 2560

กรมการพัฒนาชุมชนชวนเล่นสงกรานต์แบบไทยใช้ผ้าขาวม้า ดึงบริษัทประชารัฐฯต่อยอดพัฒนาเอกลักษณ์โดดเด่น สร้างงานสร้างอาชีพชุมชน

กรมการพัฒนาชุมชนชวนเล่นสงกรานต์แบบไทยใช้ผ้าขาวม้า ดึงบริษัทประชารัฐฯต่อยอดพัฒนาเอกลักษณ์โดดเด่น สร้างงานสร้างอาชีพชุมชน

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมนายกฯได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์การจัดประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2560 โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.หมดไทย พร้อมด้วยนายทวีป บุตรโพธิ์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมรณรงค์ นอกจากนี้ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ประเทศไทย จำกัด ได้นำผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า ตามโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ร่วมจัดแสดงต่อนายกฯ และคณะรัฐมนตรี เพื่อรณรงค์การใช้ผ้าขาวม้าไทยในเทศกาลสงกรานต์

นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมพัฒนาชุมชน ได้จัดโครงการ "ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย" เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ทำงานโดยคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ที่เลือกทำโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นฯ เพราะหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ชาวบ้านใช้ผ้าขาวม้ามาตั้งแต่สมัยเชียงแสน ปรากฏหลักฐานเป็นภาพวาดอยู่ในวัดในจ.น่าน

ทั้งนี้ เป็นภาพคนเชียงแสนไม่ใส่เสื้อ แต่นุ่งผ้าขาวม้า ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สื่อถึงวิถีของชุมชนมานานกว่า 700 ปี   แล้วคำว่าผ้าขาวม้า มาจากภาษาเปอร์เซียว่า กามาร์บันด์(Kamar band) กามาร์ หมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย บันด์ หมายถึง พัน รัด หรือคาด หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า คัมเมอร์บันด์ (Commer band) หมายถึง ผ้ารัดเอวในชุดทักซิโด

“ผ้าขาวม้าแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามลวดลาย คือ ตาหมากรุก หรือตามะกอก เป็นลายตารางใหญ่, ลายตาเล็ก คล้ายลายหมากรุกที่มีขนาดเล็ก, ลายไส้ปลาไหล เป็นตารางแนวยาว และลายตาหมู่ คือการผสมผสานลายไส้ปลาไหล กับลายตาเล็กเข้าด้วยกัน แต่ละชุมชนจะมีความแตกต่างและใช้โทนสีไม่เหมือนกัน  ในประเทศไทยผ้าขาวม้าเปรียบดังผ้าอัศจรรย์ สารพัดประโยชน์  จึงทำโครงการนี้เพื่อให้ผ้าขาวม้ากลับมาได้รับความสนใจในวงกว้าง" นายอภิชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมการพัฒนาชุมชนได้คัดเลือกชุมชนที่ผลิตผ้าขาวม้ามาทั้งหมด 1,300 ชุมชน  ในจำนวนนี้มี 502 ชุมชน ที่ส่งผลงานเข้าร่วมในโครงการฯ  มีการพัฒนาต่อยอดให้เป็นสินค้าในหลาย ๆ แบบ ทั้งเครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในบ้าน และอื่น ๆ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกผ้าที่มีความสวยงาม โดดเด่น มีเอกลัษณ์จนเหลือเพียง 69 ชุมชน  เพื่อร่วมเวิร์คชอปกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผ้าขาวม้าเป็นที่รู้จักและอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน