posttoday

อาลีบาบาเล็งลงทุนตั้งเมืองอี-คอมเมิร์ซในอีอีซี

31 มีนาคม 2560

อาลีบาบาเล็งลงทุนตั้งอี-คอมเมิร์ซ ปาร์คในอีอีซี หวังใช้เป็นฮับลงทุนในภูมิภาคซีแอลเอ็มวีและเป็นจุดเชื่อมต่อตลาดโลก คาดปีนี้เริ่มเห็นและเต็มรูปแบบภายใน 2-3 ปีนี้

อาลีบาบาเล็งลงทุนตั้งอี-คอมเมิร์ซ ปาร์คในอีอีซี หวังใช้เป็นฮับลงทุนในภูมิภาคซีแอลเอ็มวีและเป็นจุดเชื่อมต่อตลาดโลก คาดปีนี้เริ่มเห็นและเต็มรูปแบบภายใน 2-3 ปีนี้

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังผู้บริหารระดับสูงของลาซาด้า กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซจากจีนเข้าพบหารือว่า ทางลาซาด้าได้ยืนยันความสนใจในการเข้ามาลงทุนตั้งเมืองอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ (เจน 5 อี-คอมเมิร์ซ ปาร์ค) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคซีแอลเอ็มวี และเป็นจุดเชื่อมต่อตลาดโลก

“ทางลาซาด้ายืนยันว่าสนใจที่จะลงทุนอีอีซีจริงๆ เพราะได้ทำการศึกษาทั้งภูมิภาคแล้วพบว่า คอนเซ็ปต์การตั้งอี-คอมเมิร์ซ ปาร์คในไทยเหมาะสมที่สุดทั้งที่ตั้ง ขนาดของตลาดในประเทศ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการลงทุนในอีซีซี โดยขณะนี้ทางลาซาด้ากำลังหาพื้นที่ในการตั้ง เบื้องต้นมีตัวเลือกอยู่ที่ 5 ที่ภายในอีอีซี ซึ่งภายในเดือนพ.ค.นี้จะสรุปอีกครั้งว่าจะเลือกที่ใด คาดว่า ภายในปีนี้จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม และจะเสร็จสมบูรณ์เต็มรูปแบบภายใน 2-3 ปีนี้” นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ โมเดลดังกล่าว ทางลาซาด้าแจ้งว่า เคยใช้และประสบความสำเร็จมาก่อนแล้วในประเทศจีน นอกจากนี้โมเดลดังกล่าวยังเป็นคนละรูปแบบกับที่ทำในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากในมาเลเซียจะเน้นทำในรูปแบบของการเป็นแพลตฟอร์ม จึงทำให้ไม่ทับซ้อนกัน

นายอุตตม กล่าวต่อว่า ภายในเมืองอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ ปาร์ค จะมีองค์ประกอบพร้อมที่หนุนการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เข้าถึงธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยจะมีทั้งศูนย์แสดงและกระจายสินค้า (ดิสซิบิวชั่น) ศูนย์ฝึกอบรม (เทรนนิ่ง) และอาจจะมีการผลิตสินค้าบางประเภทเพื่อจำหน่าย ซึ่งจะมีครบเป็นคลัสเตอร์

นอกจากนี้ ทางลาซาด้ายังเห็นตรงกันว่า จะขยายความร่วมมือในการช่วยฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยให้เข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น หลังได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์มาก่อนหน้านี้แล้ว 3 เดือน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นทีมประสานงานตรงความร่วมมือในการพัฒนาเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้เข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยผ่านเครือข่ายศูนย์ประจำภาคที่มีอยู่

“ลาซาด้าได้ช่วยสร้างแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า ‘SME 4.0 Shop’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้เอสเอ็มอีไทยสามารถนำสินค้าขึ้นมาวางจำหน่ายในระบบอี-คอมเมิร์ซได้ พร้อมกันนี้ลาซาด้าก็จะช่วยฝึกอบรมเอสเอ็มอีไทยทั้งในเรื่องของวิธีการขึ้นสู่แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ การทำการตลาดดิจิทัล และวิธีการในการตั้งราคาสินค้าบนระบบออนไลน์” นายอุตตม กล่าว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทางลาซาด้าหรือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต้องการในการเข้ามาลงทุนคือ การเป็นเขตปลอดอาการและเอกสาร ซึ่งตัวแทนจากกรมศุลกากรก็ให้การตอบรับที่ดี เพราะตรงกับคอนเซ็ปต์ของอีอีซีที่ต้องการให้เป็นระดับสากลเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก และยิ่งในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาสนามบินและถนนเชื่อมในพื้นที่อีอีซีก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อลาซาด้าในการส่งสินค้าออกขาย

ภาพประกอบข่าว