posttoday

ค้าปลีกหนุนรัฐจัดแถวออนไลน์

10 มีนาคม 2560

หากภาครัฐสามารถนำผู้ขายออนไลน์เข้ามาในระบบได้ จะถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการขายออนไลน์ในอนาคตให้เติบโตอย่างมั่นคง

โดย...จะเรียม สำรวจ

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆ ที่เปิดขายกันอยู่บนอินเทอร์เน็ตนับวันจะได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านของผู้ซื้อหรือผู้ขาย เนื่องจากการทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวไม่ต้องลงทุนหน้าร้าน เสียค่าเช่าพื้นที่ เสียค่าจ้างพนักงาน นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากความคล่องตัวดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้สนใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ขายออนไลน์สูงถึง 1.005 ล้านราย แต่มีตัวเลขการเข้าจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพียง 1.3 หมื่นรายเท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของจำนวนผู้ขายออนไลน์ทั้งหมด

เมื่อตัวเลขการทำธุรกิจที่ถูกต้องไม่สะท้อนภาพความเป็นจริง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้บริโภคบางส่วนถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าในช่องทางดังกล่าว เห็นได้จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินแล้วไม่ได้สินค้าที่ระบุไว้ หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้พูดถึงเรื่องภาษีที่ภาครัฐไม่ยังไม่ได้จัดเก็บจากกลุ่มผู้ขายออนไลน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้วยเหตุนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงขอเป็นแม่งานในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ในกฎและกติกาในการแข่งขันเดียวกัน

จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารซึ่งทำให้มีช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนการซื้อขายมาสู่ระบบการค้าออนไลน์ ซึ่งจากจำนวนผู้เล่นที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ทางสมาคมจึงมีข้อเสนอต่อการค้าออนไลน์ให้ภาครัฐได้รับไว้พิจารณาด้วยกัน 2 ข้อหลัก 

ข้อที่ 1 ในการประกอบธุรกิจการค้าออนไลน์ผู้ประกอบการจะต้องเกี่ยวข้องกับภาษี 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยขอเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์นั้นต้องดำเนินดังนี้ คือ 1.จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม ที่กรมสรรพากร 2.จดทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และ 3.จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า ยังมีผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์จำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษีร้านค้าออนไลน์อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เจ้าใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศโดยอ้างว่ามีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ภาครัฐต้องเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์อย่างจริงจัง

สำหรับข้อที่ 2 ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยอยากจะเรียกร้อง คือ อยากให้สำนักงานส่งเสริมแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ติดตามพฤติกรรมการค้าออนไลน์ที่สร้างความไม่เป็นธรรมอย่างใกล้ชิด และหามาตรการระงับพฤติกรรมดังกล่าวตามกลไกที่ระบุในพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542

อย่างไรก็ดี หากภาครัฐสามารถนำผู้ขายออนไลน์เข้ามาในระบบได้ จะถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการขายออนไลน์ในอนาคตให้เติบโตอย่างมั่นคง และสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย