posttoday

นกสกู๊ตลุ้นปีหน้ากำไร ลุยขยายตลาดคนไทย

03 มีนาคม 2560

แผนการบินของนกสกู๊ตปี60จะเพิ่มความถี่เส้นทางบินไปยังเมืองเสิ่นหยาง-เทียนจิน พร้อมเพิ่มเส้นทางไปยังเมืองใหม่ในจีน

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ติดธงแดงให้ไทยบ่งชี้ข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญด้านความปลอดภัยกับธุรกิจการบินของไทย เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขวางกั้นไม่ให้สายการบินของไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ เช่น สายการบินนกสกู๊ต ที่เปิดตัวมาในช่วงใกล้ๆ กับการประกาศธงแดงพอดี

ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต เปิดเผยว่า นกสกู๊ตเป็นสายการบินร่วมทุนที่ก่อตั้งโดยสายการบินนกแอร์และสายการบินสกู๊ต โดยเริ่มบินครั้งแรกในช่วงเดือน ธ.ค. 2557- มี.ค. 2558 ในรูปแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ ไฟลต์) จากนั้นมาในเดือน มี.ค. 2558 ก็มีประกาศธงแดงของไอซีเอโอออกมา ทำให้แผนธุรกิจที่วางไว้ต้องปรับเปลี่ยน จากเดิมต้องการเปิดเส้นทางบินไปยัง 2 จุดหมายสำคัญคือ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ก็ต้องเบนเข็มมาเปิดเส้นทางบินในจีนและไต้หวันแทน

ทั้งนี้ ตลอดปี 2558 นกสกู๊ตมียอดผู้โดยสาร 1.9 แสนคน ทำรายได้ 955 ล้านบาท อัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (โหลดแฟกเตอร์) 71% ปี 2559 มียอดผู้โดยสาร 8 แสนคน เพิ่มขึ้น 325% รายได้รวม 3,895 ล้านบาท เพิ่ม 308% และโหลดแฟกเตอร์ 80% ปีนี้ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสาร 1.07 ล้านคน รายได้ 5,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% โหลดแฟกเตอร์ 81% ส่วนปี 2561 ตั้งเป้าหมายรายได้จะเพิ่มเป็น 9,714 ล้านบาท เมื่อประเมินกำไรขาดทุนแล้ว ปีนี้น่าจะยังขาดทุนอยู่ไม่เกิน 170 ล้านบาท และปีหน้าจะเป็นปีแรกที่นกสกู๊ตเริ่มทำกำไรได้

การคาดการณ์นี้อยู่บนพื้นฐานว่าประเทศไทยจะได้รับการปลดธงแดงจากไอซีเอโอภายในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้นกสกู๊ตกลับมาดำเนินการตามแผนเดิมคือ ขยายเส้นทางบินไปยังเมืองโตเกียวและโอซากาในญี่ปุ่น กับกรุงโซล เกาหลีใต้ได้ ซึ่งปีนี้นกสกู๊ตได้เตรียมเช่าเครื่องบินเพิ่มมา 1 ลำ เพื่อรองรับการเพิ่มความถี่เส้นทางบินเดิมและเพิ่มเส้นทางบินใหม่ ส่วนปีหน้าเตรียมเช่าเครื่องบินเพิ่มอีก 2 ลำ รองรับการขยายตัว

“สาเหตุที่นกสกู๊ตมองว่าจะใกล้ถึงจุดคุ้มทุนและทำกำไรได้แล้ว นอกจากเรื่องการปลดธงแดงก็มาจากการบริหารจัดการใช้เครื่องบินได้ดีขึ้น โดยปีที่ผ่านมาช่วงต้นปีบริหารการใช้ได้ 6-7 ชั่วโมง/วัน/ลำ ปลายปีก็ทำได้เพิ่มเป็น 9 ชั่วโมง/วัน/ลำ ส่วนปีนี้คาดว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 11 ชั่วโมง/วัน/ลำ นอกจากนี้ยังสามารถทำราคาขายตั๋วเครื่องบินได้ดีถือเป็นผู้นำในกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์)”

นกสกู๊ตลุ้นปีหน้ากำไร ลุยขยายตลาดคนไทย ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต

 

ปิยะ กล่าวว่า นกสกู๊ตเพิ่งได้รับหนังสือรับรองการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย (ไอโอซา) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) วันที่ 2 มี.ค. 2560 ส่วนการดำเนินการตามขั้นตอนตรวจสอบและได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (รี-เอโอซี) ตามมาตรฐานไอซีเอโอ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มี 5 ระยะ ปัจจุบันนกสกู๊ตใกล้จะเสร็จระยะที่ 3 คาดว่าจะดำเนินการรี-เอโอซี เสร็จปลายเดือน พ.ค.นี้

ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานของภาครัฐ เท่าที่ทราบการรี-เอโอซี น่าจะเสร็จครบทุกสายการบินช่วงเดือน มิ.ย. จากนั้นไทยจะขอให้ไอซีเอโอมาตรวจสอบใหม่ ซึ่งน่าจะได้รับการตรวจช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้

สำหรับแผนการบินของนกสกู๊ตปีนี้ จะเพิ่มความถี่เส้นทางบินไปยังเมืองเสิ่นหยาง และเทียนจิน พร้อมทั้งเพิ่มเส้นทางบินไปยังเมืองใหม่ในจีนอีก 1 เมือง โดยหลักการเลือกเมืองของนกสกู๊ตก็คือ จะต้องเป็นเมืองที่มีระยะเวลาบิน 4-5 ชั่วโมง จึงจะคุ้มค่ากับการใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ที่นกสกู๊ต นำมาให้บริการ คือโบอิ้ง 777 มี 415 ที่นั่ง ดังนั้นเมืองใหม่ๆ ในจีนที่มองไว้ก็น่าจะอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ส่วนการทำชาร์เตอร์ไฟลต์นั้น ปีนี้มีรับทำช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย. ไปยังญี่ปุ่นรวม 6 เที่ยวบิน โดยนกสกู๊ต จะรับทำชาร์เตอร์ไฟลต์ก็ต่อเมื่อจำนวนชั่วโมงการใช้เครื่องบินเหลือเพียงพอจะให้ทำได้เท่านั้น

ปิยะ ระบุว่า ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้นกสกู๊ตมากกว่า 90% เป็นนักท่องเที่ยวจีน ส่วนคนไทยหากเป็นเส้นทางบินไปจีนมีสัดส่วนไม่ถึง 1% เส้นทางบินไปไทเปมีสัดส่วนมากถึง 50% ดังนั้น ปีนี้จะให้ความสำคัญทำตลาดคนไทยมากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนคนไทยใช้บริการนกสกู๊ตโดยรวมทุกเส้นทางปีนี้ 5% และเป็น 10% ในปีหน้า ผ่านการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ล่าสุดคือทำแคมเปญออนไลน์ ออซั่ม ไชน่า ประชา สัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจในจีนให้เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย ดึงยูทูบเบอร์ คือผู้ที่นำเสนอเนื้อหาบนยูทูบที่มีคนติดตามมากรวม 5 ทีมไปเที่ยวเมืองที่ไม่เคยไปตามเส้นทางที่นกสกู๊ตมีแล้วกลับมาแบ่งปันให้แฟนคลับ

ปัจจุบันเส้นทางที่นกสกู๊ตให้บริการมี 6 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ไทเป (ไต้หวัน) กรุงเทพฯ-นานจิง กรุงเทพฯ-ชิงเต่ากรุงเทพฯ-เทียนจิน กรุงเทพฯ-เสิ่นหยาง และกรุงเทพฯ-ต้าเหลียน

เชื่อว่าหลังปลดแอกธงแดงไอซีเอโอได้แล้ว คงได้เห็นสายการบินต่างๆ ขยายเส้นทางบินคึกคักกันมากขึ้นแน่นอน