posttoday

"ประสาร"รื้อลงทุนรฟท.

25 กุมภาพันธ์ 2560

พล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง "ประสาร" นั่งประธานซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ประเดิมงานแรกรื้อลงทุนรถไฟทางคู่ 5 โครงการ

พล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง "ประสาร" นั่งประธานซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ประเดิมงานแรกรื้อลงทุนรถไฟทางคู่ 5 โครงการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) โดยมอบหมายให้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ประธาน นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ

ด้าน นายประสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า โจทย์ที่ได้รับจากนายกฯ คือให้เข้าไปตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างรถไฟทางคู่ 5 โครงการที่ยื่นซองประกวดราคาแล้วมีปัญหา จึงให้กรมบัญชีกลางไปหาข้อมูลแล้วให้นำกลับมาเสนอภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเมื่อได้เห็นข้อมูลแล้วจึงจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ระบุว่า การรื้อการประมูลอาจทำให้โครงการมีความล่าช้าไปออกไปบ้าง แต่ก็จะสร้างความโปร่งใส เพื่อส่งเสริมให้เกิดความคุ้มค่าทั้งงบประมาณและระยะเวลาในการดำเนินงาน ส่วนจะมีการประกาศยกเลิกโครงการทางคู่ 7 เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มูลค่ารวม 1.36 แสนล้านบาทที่มีปัญหาหรือไม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับฯ จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งคงจะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เนื่องจากกรรมการชุดใหม่ที่ คสช.ตั้งขึ้นจะกำกับดูแลกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐเท่านั้น

"หากคณะกรรมการเห็นว่าควรยกเลิกทั้ง 7 โครงการ แม้จะมี 2 โครงการที่เปิดประมูลไปแล้วก็สามารถทำได้ ซึ่งตามปกติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้น มีการเปิดช่องให้มีการบอกเลิก สัญญาได้อยู่แล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีข้อกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส หรือมีข้อร้องเรียน ความไม่เป็นธรรม แต่จะต้องมีเหตุผลชี้แจงได้ว่ายกเลิกเพราะสาเหตุอะไร แต่หากไม่ต้องการยกเลิก ก็อาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางส่วนของโครงการก็ได้" นายพิชิต กล่าว

นายพิชิต กล่าวอีกว่า การปลด ผู้ว่าการ รฟท. พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีอิสระในการทำงาน ทั้งเรื่องการบริหารและจัดซื้อจัดจ้างในอนาคต เพราะ รฟท.เป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณในการลงทุนมากถึง 90% ของงบลงทุนทั้งประเทศ โดยในช่วง 2 ปี คือ ปี 2559-2560 มีงบลงทุนรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท