posttoday

มั่นใจตั๋วโดยสารร่วมเชื่อมระบบขนส่งเกิดแน่ภายในมิ.ย.นี้

23 กุมภาพันธ์ 2560

"อาคม" ยันตั๋วแมงมุมเกิดแน่ มิ.ย.60 เล็งผลิตลอตแรก 7 ล้านใบ เร่งเจรจาเอกชนตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ชี้ยังคงอัตราค่าโดยสารเดิม

"อาคม" ยันตั๋วแมงมุมเกิดแน่ มิ.ย.60 เล็งผลิตลอตแรก 7 ล้านใบ เร่งเจรจาเอกชนตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ชี้ยังคงอัตราค่าโดยสารเดิม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวในงาน Thailand Transport 2017 Better Connect, Better Life ว่า กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วม ภายใต้ชื่อบัตรแมงมุม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้ว 90% และอยู่ระหว่างเจรจาร่วมจัดตั้งบริษัทจัดการระบบตั๋วร่วม (CTC) โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถให้บริการบัตรแมงมุมได้ในเดือน มิ.ย.นี้แน่นอน

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมการจัดตั้งบริษัทจัดการระบบตั๋วร่วม โดยจะเชิญผู้ประกอบการที่ให้บริการขนส่งสาธารณะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริเวณ แต่เบื้องต้นระยะแรกจะมีสัดส่วนการลงทุนเป็นเอกชนร้อยละ 60 รํบบาลร้อยละ 40 ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส  และรัฐบาล ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และธนาคารกรุงไทย 

ทั้งนี้จากการเจรจากับบริษัทบีอีเอ็ม และบีทีเอสในเบื้องต้นก็พร้อมเข้าร่วม จึงได้ให้แต่ละบริษัทไปคำนวณว่าต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมเท่าใดในการปรับปรุงระบบแตะบัตรเพื่อให้เข้ากับระบบแมงมุม โดยขอให้สรุปตัวเลขทั้งหมดภายในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อจะได้ทราบว่าการจัดตั้งบริษัทต้องใช้เงินลงทุนเท่าใด จากนั้นจะได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทฯ ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามรูปแบบบริษัทจะเป็นลักษณะของการถือหุ้นร่วมกัน ซึ่งในอนาคตหากมีบริษัทผู้ประกอบการรายอื่นๆ เข้ามาร่วมให้บริการบัตรแมงมุมมากขึ้น เราก็ต้องมาเคลียร์กันใหม่ว่าจะถือหุ้นกันอย่างไร

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า คาดว่าจะผลิตบัตรแมงมุมลอตแรกประมาณ 7 ล้านใบ โดยใช้ข้อมูลจากบีทีเอสมาเป็นฐานในการผลิต จากนั้นจะทยอยเพิ่มการผลิตต่อไป ทั้งนี้สำหรับการให้บริการบัตรแมงมุมในเดือน มิ.ย.นี้ จะเริ่มจากรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) รถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางใหญ่-เตาปูน) รถไฟฟ้าสายสีเขียว(หมอชิต-แบริ่ง) และแอร์พอร์ตลิงค์(พญาไท-สุวรรณภูมิ) ก่อน จากนั้นในเดือน ก.ย. จะสามารถใช้กับรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้บางส่วนก่อน และในปี 61 จะใช้ได้กับทางด่วนมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี

ส่วนเรื่องการคิดอัตราค่าโดยสารแรกเข้านั้นยังต้องเหมือนเดิมไปก่อน เพราะยังติดสัญญาสัมปทานของแต่ละบริษัทที่ระบุไว้ว่าต้องเก็บค่าโดยสารแรกเข้า หลังจากนั้นคงมาคุยกับบีอีเอ็ม และบีทีเอสอีกครั้ง ทั้งนี้จะขอเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อดูรายได้ของบริษัทจัดการระบบตั๋วร่วมด้วยว่ามีรายได้มากน้อยเพียงใด หากมีรายได้มากก็สามารถนำไปชดเชยค่าแรกเข้าได้ และผู้ใช้บริการก็จะไม่เสียค่าแรกเข้าในการเข้าระบบที่สอง

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของ ขสมก. นั้น ขณะนี้ทราบว่ากำลังพิจารณาว่าจะทยอยติดตั้งระบบรถประเภทใดก่อน ในเดือน ก.ย.นี้ จึงจะใช้ได้บางส่วนก่อน ส่วนด้านบัตรสวัสดิการน่าจะเริ่มแจกได้ประมาณเดือน ก.ย.นี้ ดังนั้นเมื่อผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกับทางภาครัฐแล้ว ก็จะทำให้มีบัตรดังกล่าวไปใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ส่งผลให้รถเมล์ฟรียกเลิกไปโดยปริยาย โดยในบัตรนี้รัฐบาลจะมีเงินค่าเดินทางใส่ให้ในบัตรด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังคำนวณตัวเลขอยู่แต่เบื้องต้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 500-600 บาทต่อเดือน หากใช้ไม่หมดไม่สามารถทบไปในเดือนถัดไปได้