posttoday

อี-คอมเมิร์ซใช้ประจำวัน

10 กุมภาพันธ์ 2560

กันตาร์ฯ ชี้ แนวโน้มการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคหมุนเวียนเร็ว ผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซจะเพิ่มสัดส่วนจากปีก่อน 7.3% เป็น 10% ในปีนี้

โดย...จะเรียม สำรวจ

จากแนวโน้มการถือครองสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคชาวไทยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากค่าบริการเริ่มมีราคาถูกลง ส่งผลให้การเข้าถึงโลกออนไลน์ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้การขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น

สินค้าอุปโภคบริโภคหมุนเวียนเร็ว หรือเอฟเอ็มซีจี ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่เริ่มมียอดขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าแฟชั่นหรืออิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย

อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลด พาแนล (ไทยแลนด์) กล่าวว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าของครัวเรือนไทยผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซตั้งแต่ปี 2555 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากปี 2555 ที่ผ่านมา การซื้อสินค้าผ่านช่องทางอี-คอม เมิร์ซมีสัดส่วนเพียง 0.4% และมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่เพียง 67 ล้านบาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสูงถึง 7.3% หรือมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 2,474 ล้านบาท ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวคาดการณ์ว่าปี 2560 นี้ ครัวเรือนไทยจะมีสัดส่วนการซื้อสินค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 10% อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการซื้อขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซจะเติบโตมากหรือน้อยยังคงต้องขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ การถือครองสมาร์ทโฟนของประชากรไทย ซึ่งปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีที่มีประชากรของประเทศมีการถือครองสมาร์ทโฟนเกือบ 100% นอกจากนี้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประเทศเกาหลียังมีความครอบคลุมประชากรของประเทศมากกว่าประเทศไทย ส่งผลให้การซื้อขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซของประเทศเกาหลีมีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากมีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดอัตราส่วน 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจประเทศ
    
ทั้งนี้ แม้ว่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ เห็นได้จากการจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีกต่างๆ ที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่องทางค้าปลีกที่มีการขยายตัวมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะห้างเทสโก้ โลตัส

อิษณาติ กล่าวว่า ปัจจัยที่ห้างค้าปลีกของห้างเทสโก้ โลตัส มียอดขายเติบโตดีกว่าห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ห้างเทสโก้ โลตัส มีการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่หลากหลายผ่านแคมเปญการตลาดในรูปแบบต่างๆ ขณะเดียวกันห้างเทสโก้ โลตัส ยังมีจำนวนสาขาที่หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้การเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ดีกว่า

สำหรับสินค้าที่มียอดขายเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมาในช่องค้าปลีกต่างๆ คือ น้ำกะทิสำเร็จรูป นมถั่วเหลือง น้ำดื่มบรรจุขวด เบียร์ อุปกรณ์ประกอบอาหาร ข้าว น้ำยาทำความสะอาดพื้น และผลไม้กระป๋อง ส่วนสินค้าที่น่าจับตามองในปีนี้ คือ เบียร์และกระดาษชำระ ทั้งนี้สินค้าไหนจะเข้ามาตีตื้นสินค้า 2 ตัวนี้คงต้องจับตามองพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคว่าหลังจากผ่านไตรมาสแรกไปจะซื้อสินค้ากลุ่มไหนเพิ่มขึ้น