posttoday

5 คำถามแปลงกลยุทธ์ สู่การปฏิบัติ

29 มกราคม 2560

ในช่วงเริ่มต้นปีแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องหลักในการบริหารจัดการของบริษัททั่วไป คือการเริ่มทำตามเป้าหมาย กลยุทธ์

โดย...ธรรมนูญ มิตรเทวิน ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เดอะไนล์

ในช่วงเริ่มต้นปีแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องหลักในการบริหารจัดการของบริษัททั่วไป คือการเริ่มทำตามเป้าหมาย กลยุทธ์ และแผนงานที่ผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการ ได้มีการตั้งเอาไว้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ที่บริษัทหลายๆ ที่ต้องเจอก็คือเมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่างานที่ทำไปนั้น ไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายหรือกลยุทธ์ที่ตั้งเอาไว้เลย

ทว่า กลับเป็นงานที่ทำไปเพื่อปฏิบัติงานประจำให้เสร็จไปในแต่ละวันเพียงเท่านั้น แต่ทำผลงานไม่ได้ตามที่ผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการได้คาดหวังเอาไว้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ผมขอเสนอแนวทางที่จะช่วยแปลงกลยุทธ์บริษัทสู่การปฏิบัติของบุคลากรให้ได้เกิดขึ้นจริงผ่านการตั้ง 5 คำถามสำคัญและต้องตอบให้ได้ ดังนี้

1.กลยุทธ์บริษัทแต่ละเรื่อง มีกี่หน่วยงาน ดูแลและรับผิดชอบร่วมกันบ้าง

อย่าคิดว่าแต่ละกลยุทธ์ต้องมีแค่หน่วยงานเดียวรับผิดชอบ หรือพูดง่ายๆ คือกลยุทธ์บริษัทต้องมีเจ้าภาพร่วม

2.หน่วยงานเหล่านั้นตั้งเป้าหมายและแผนงานสนับสนุนกลยุทธ์อย่างไร

ตามหลักการตั้งเป้าหมายและแผนงานให้เกิดการปฏิบัติและได้ผลนั้น ต้องมีความชัดเจนในรูปของปริมาณเชิงตัวเลขและเวลาที่จะทำให้สำเร็จ

3.ทรัพยากรด้านต่างๆ ที่หน่วยงานเหล่านั้นมีอยู่ ทั้งเรื่องของงบประมาณและบุคลากรซึ่งมีส่วนสำคัญในการปฏิบัตินั้นเพียงพอ และครบถ้วนเพื่อดำเนินการหรือไม่

4.หน่วยงานเหล่านั้นมีการระบุผู้ดูแลรับผิดชอบในการสร้างผลงานให้สำเร็จได้เหมาะสมหรือไม่

ทั้งในเรื่องของจำนวนและความสามารถ และที่สำคัญบุคลากรเหล่านั้นยอมรับหรือเห็นด้วยไหม

5.เวลาการทำงานของทีมงานในหน่วยงานเหล่านั้นวันหนึ่งๆ เป็นการทำงานตามกลยุทธ์กี่เปอร์เซ็นต์ และทำงานด้านปฏิบัติการแบบประจำกี่เปอร์เซ็นต์

ถ้าต้องการให้ได้ผลต้องแบ่งเวลาให้ได้ อย่างน้อยการทำงานเพื่อตอบกลยุทธ์บริษัทต้องเกินกว่าครึ่งในเวลาทำงานทั้งหมด

หากเราสามารถตอบคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ได้แล้ว ก็ขอให้นึกถึงคำตอบของมันอยู่เสมอ

อย่างน้อยก็จะทำให้การเริ่มต้นทำงานตั้งแต่ต้นปีของเราสามารถทำไปในทิศทางที่ตรงตามกลยุทธ์บริษัทที่ตั้งไว้ ไม่จมไปอยู่กับงานประจำ

หวังว่าบทความที่ได้แลกเปลี่ยนนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้บริหาร หัวหน้างาน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ต้องบริหารและขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กระแสอะไรๆ ก็ 4.0 ที่เป็นกันอยู่ในตอนนี้นะครับ