posttoday

กฟผ.ห่วงใต้เสี่ยงไฟดับ

20 มกราคม 2560

กฟผ.หวั่นไฟฟ้าภาคใต้เข้าขั้นวิกฤต หลังเลื่อนโรงไฟฟ้ากระบี่ ลุ้น กพช. 17 ก.พ.นี้ เคาะอนาคต

กฟผ.หวั่นไฟฟ้าภาคใต้เข้าขั้นวิกฤต หลังเลื่อนโรงไฟฟ้ากระบี่ ลุ้น กพช. 17 ก.พ.นี้ เคาะอนาคต

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รอง ผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีความเสี่ยงความไม่มั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าดับ กฟผ.จึงมีความเป็นห่วงกรณีที่หากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) และไม่สามารถหาไฟฟ้าอื่นมาทดแทนได้ทัน จะส่งผล กระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าใน ภาคใต้ให้วิกฤตขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ หากต้องปรับไปใช้เชื้อเพลิงอื่นโดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้นอีกด้วย โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 17 ก.พ.นี้ ทราบว่าจะมีการพิจารณา โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จึงคาดหวังว่าจะมีความชัดเจนไปในทิศทางที่ดี

นอกจากนี้ ประเมินว่าอนาคตหากต้องพึ่งพาแอลเอ็นจีทั้งหมดแทนการ ใช้ถ่านหินจนถึงปลายปี 2564 ราคา แอลเอ็นจีเฉลี่ยที่ 300 บาท/ล้านบีทียู ขณะที่ค่าไฟฟ้าจากถ่านหินจะถูกกว่า 40 สตางค์ (สต.)/หน่วย เมื่อคิดจำนวนไฟที่ 1,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้สามารถ ลดค่าไฟได้ถึงปีละ 3,000 ล้านบาท/ปี

ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ 2,747 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตภาคใต้เฉลี่ยอยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ แต่การผลิตจริงไม่ได้เต็มศักยภาพ เพราะมีพลังน้ำรวมอยู่ ทาง กฟผ.ต้องดึงไฟฟ้าจากส่วนกลางมาเสริม ขณะที่แผนพีดีพี 2015 คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ในปี 2562 อยู่ที่ 3,152 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินกว่ากำลังการผลิต ดังนั้นจะวิกฤตสูงสุดในปี 2563 เพราะคาดว่าอาจจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564

นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รอง ผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้เดินหน้า โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ได้ก็ต่อเมื่อชุมชนต้องเห็นด้วย โดย กฟผ.ได้ส่งรายชื่อผู้สนับสนุน 1.5 หมื่นคน ไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อรายงานต่อนายกฯ แล้วและต้องรอนโยบายจากภาครัฐเพื่อที่จะเดินหน้าต่อ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา นั้น คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) อยู่ระหว่างการพิจารณา ก่อนนำส่งเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบต่อไป