posttoday

"เฟซบุ๊ก" คิดการใหญ่ เปิดชำระเงิน P2P สู่ยุโรป

19 มกราคม 2560

หากเฟซบุ๊กกลายเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินโดยตรง ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารจะหายไป

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียชื่อดังเตรียมแผนขยายบริการชำระเงินแบบบุคคลต่อบุคคล (P2P) ออกนอกสหรัฐไปสู่ยุโรปเป็น
ครั้งแรกหลังเริ่มให้บริการในบ้านมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2015

บริษัท เฟซบุ๊ก เพย์เมนต์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (เอฟบีพีไอแอล) บริษัทในเครือของเฟซบุ๊กที่ตั้งอยู่ในไอร์แลนด์ ได้รับใบอนุญาตให้บริการการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารกลางไอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งมีผลครอบคลุมไปทั่วสหภาพยุโรป (อียู) และยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์กับธนาคารกลางสเปนแล้วเช่นกัน จึงเป็นสัญญาณว่าเฟซบุ๊กพร้อมเปิดบริการ P2P ในยุโรปผ่านแอพพลิเคชั่น เมสเซนเจอร์ ของบริษัท

ฟรองซัวส์ บริโอด์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์โมนิโต ซึ่งให้บริการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการโอนเงินข้ามประเทศ เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กมีแนวทางเดินหน้า 2 แบบ หลังได้รับใบอนุญาตดังกล่าว คือเพิ่มความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนในรูปสกุลเงินยูโรหรือเปิดบริการชำระเงินข้ามสกุลเงิน ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้งานในยุโรปสามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับอีกฝ่ายที่อยู่นอกอียูได้โดยเฟซบุ๊กอาจครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ด้านบริการ P2P ได้ หากดำเนินการดังกล่าวสำเร็จ

อย่างไรก็ดี แม้เฟซบุ๊กให้บริการ P2P มาปีกว่าแล้วในสหรัฐ แต่บริการนี้กลับไม่ได้รับความนิยมสูงนัก เนื่องจากยังไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง เพย์พัลสแควร์ แคช และเวนโม ในทางกลับกัน บริการ P2P ผ่านแอพพลิเคชั่นเมสเซนเจอร์มีแนวโน้มขยายตัวได้มากกว่าในยุโรป เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้เมสเซนเจอร์ทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปเช่น ในสเปน ที่มีจำนวนผู้ใช้งานถึง 21 ล้านคน แม้ในยุโรปมีผู้ให้บริการ P2P อยู่แล้ว เช่น เพย์เอ็ม (Paym) ในอังกฤษ และทวิป (Twyp) ในสเปน แต่ฐานผู้ใช้งานยังไม่มากนัก ซึ่งเป็นโอกาสที่เฟซบุ๊กจะเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดดังกล่าว

การขยาย P2P ของเฟซบุ๊กจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารในยุโรป แม้ว่าส่วนใหญ่เริ่มปรับสู่รูปแบบดิจิทัลแบงก์กิ้งแล้วก็ตาม โดยเทคครันช์ระบุว่า P2P จะลดบทบาทตัวกลางของธนาคารลงเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เฟซบุ๊กจะกลายเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินโดยตรง (PISP) ด้วยการเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารผู้ใช้ และเข้าไปหักเงินหรือค่าบริการต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านระบบชำระเงินของธนาคาร ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยบริการชำระเงินของอียูฉบับแก้ไข (PSD2) ปี 2015 ที่มุ่งเพิ่มการแข่งขันในระบบให้บริการรับชำระเงิน โดยสมาชิกอียูมีเวลาถึงปี 2018 ในการปรับใช้กฎดังกล่าว

ทั้งนี้ หากเฟซบุ๊กกลายเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินโดยตรง ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารจะหายไป และยังช่วยลดขั้นตอนการชำระเงินให้เหลือเพียง “คลิกเดียว” นอกจากนี้เฟซบุ๊กอาจมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นผู้ให้บริการข้อมูลบัญชี (AISP) ซึ่งสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายหรือให้ข้อมูลบัญชีในภาพรวมแก่ผู้ใช้งานได้ เนื่องจากบริการชำระเงินโดยตรง ทำให้เฟซบุ๊กมีข้อมูลบัญชีของผู้ใช้จากการทำธุรกรรมกับหลายธนาคาร

ภาพ...เอเอฟพี