posttoday

คิกออฟอินเทอร์เน็ตประชารัฐ

27 ธันวาคม 2559

คิกออฟโครงการ "เน็ตประชารัฐ" ตั้งเป้าครอบคลุม 2.47 หมื่นหมู่บ้านใน 1 ปี แต่ครึ่งปี 2560 เสร็จ 4,000 แห่งก่อน

คิกออฟโครงการ "เน็ตประชารัฐ" ตั้งเป้าครอบคลุม 2.47 หมื่นหมู่บ้านใน 1 ปี แต่ครึ่งปี 2560 เสร็จ 4,000 แห่งก่อน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมเป็นประธานเปิดโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 1 การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยในงานนี้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ระหว่างกระทรวงดีอี บริษัท ทีโอที และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เพื่อร่วมป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการดำเนินโครงการอีกด้วย

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 2 พ.ย. เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการ โดยมอบหมายให้ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายให้ครอบคลุม 2.47 หมื่นหมู่บ้านที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการบรอดแบนด์ในลักษณะการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน โดยโครงข่ายทั้งหมดจะเป็นทรัพย์สินของกระทรวงดีอี

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี กล่าวว่า กระทรวงได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน โดยขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ซึ่งการออกแบบและติดตั้งโครงข่ายจะเป็นแบบเปิด (Open Access Network) ที่รองรับการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการอื่นได้โดยสะดวก โดยใช้จุดต้นทางจาก Node ที่เป็นทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐ ครอบคลุมหมู่บ้านที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการบรอดแบนด์ 2.47 หมื่นหมู่บ้าน ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน รวมถึงการจัดให้มีจุดให้บริการไว-ไฟ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps เช่นกัน

นายพิเชฐ กล่าวว่า ทีโอทีต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นปี 2560 และคาดว่าครึ่งปีแรกจะติดตั้งได้ 4,000 หมู่บ้าน เนื่องจากช่วงเริ่มโครงการจะช้าเพราะต้องมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ แต่หลังจากนั้นในช่วงครึ่งปีหลังขอให้มั่นใจว่าทีโอทีจะทำทันและโปร่งใสแน่นอน

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงนามข้อตกลงคุณธรรมเป็นความร่วมมือในการป้องกันและต่อต้านทุจริตในโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ให้มีความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีคณะผู้สังเกตการณ์ซึ่งเป็นผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการของโครงการในทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีบริการและมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ 3 หมื่นหมู่บ้าน พื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการบรอดแบนด์ 4 หมื่นหมู่บ้าน ทีโอทีจะดำเนินการ 2.47 หมื่นหมู่บ้าน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการอีก 1.57 หมื่นหมู่บ้าน

บรรยายภาพ - คิกออฟ : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 1 การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เมื่อ 26 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา