posttoday

10 อันดับธุรกิจเด่น-ด้อยปี'60

25 ธันวาคม 2559

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำผลวิจัย 10 ธุรกิจเด่น-ร่วงปี 2560 ปรากฏว่า ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ยังคงติดอันดับ 1 ธุรกิจเด่นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำผลวิจัย 10 ธุรกิจเด่น-ร่วงปี 2560 ปรากฏว่าธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ยังคงติดอันดับ 1 ธุรกิจเด่นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6

ทั้งนี้ การให้คะแนนจะแบ่งเป็น 5 ด้าน ด้านยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ความสามารถในการรับปัจจัยเสี่ยง และความสอดคล้องกับกระแสนิยม ด้านละ 20 คะแนน รวม 100 คะแนน

สำหรับ 10 อันดับธุรกิจเด่นปี 2560 เรียงลำดับดังนี้ 1.ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม 94.1 คะแนน 2.ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว 92.2 คะแนน 3.ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 91.1 คะแนน 4.ธุรกิจเกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยว 90.4 คะแนน เท่ากับธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (คอมพิวเตอร์ มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) 5.ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง 89.9 คะแนน 6.ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ 89.1 คะแนน 7.ธุรกิจบริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร 88.5 คะแนน 8.ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ 88.2 คะแนน เท่ากับธุรกิจประกันภัย ออร์แกไนซ์ 9.ธุรกิจซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 87.3 คะแนน เท่ากับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และ 10.ธุรกิจการศึกษา 86.8 คะแนน เท่ากับธุรกิจให้คำปรึกษาทางกฎหมายและบัญชี

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธุรกิจที่โดดเด่นในปี 2560 เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลก 4 ด้าน คือ 1.ดิจิทัล ทำให้ธุรกิจอย่างอี-คอมเมิร์ซ และฟินเทค มาแรง 2.สังคมเมือง ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ขยายตัว 3.สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ธุรกิจบริการสุขภาพ การออมเงินและประกันยังคงเติบโต และ 4.รักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจสุขภาพเติบโต

สำหรับ 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2560 ได้แก่ 1.ธุรกิจฟอกย้อม 11.6 คะแนน 2.ธุรกิจหัตถกรรม 11.9 คะแนน 3.ธุรกิจนิตยสาร 12.7 คะแนน 4.ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ 13.3 คะแนน 5.ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอและซีดี 13.9 คะแนน 6.สิ่งทอผ้าผืนที่ไม่เน้นฝีมือ 14.6 คะแนน 7.ธุรกิจจัดทำโปสเตอร์ 14.9 คะแนน 8.ธุรกิจโรงไม้ 16.1 คะแนน เท่ากับธุรกิจตัดและซ่อมรองเท้า 9.ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ 17.9 คะแนน และ 10.ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตร 18.6 คะแนน

ธนวรรธน์ กล่าวว่า ธุรกิจด้อยจะเป็นกลุ่มที่ไม่มีการพัฒนา หรือเป็นกลุ่มที่ทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มฟอกย้อม หัตถกรรม รองเท้าและสิ่งทอที่ตัดเย็บทั่วไป ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกสินค้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาตีตลาด ส่วนธุรกิจนิตยสารและหนังสือ มองว่า ภายใน 2 ปีจากนี้ จะเป็นช่วงที่เหนื่อยมากของธุรกิจกลุ่มนี้ โดยเฉพาะนิตยสารที่มีความเฉพาะอาจต้องปรับตัวหนัก เนื่องจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่หันไปอ่านผ่านอี-บุ๊ก และอี-แมกกาซีนมากขึ้น ซึ่งต้องเป็นกลุ่มที่เข้าถึงตลาดทั่วไป (แมส) หรือมีฐานใหญ่ในต่างจังหวัดที่ยังเข้าไปถึงเทคโนโลยีไม่มากนัก จึงจะอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มธุรกิจเด่นปี 2560 นอกจากปัจจัยที่จะมาสนับสนุนให้ธุรกิจขยายตัวแล้ว ยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยง ซึ่งแต่ละกลุ่มธุรกิจจะแตกต่างกันไป โดยธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องจำนวนผู้เชี่ยวชาญและบุคลาการ โดยเฉพาะสาขาพยาบาลและแพทย์เฉพาะทางที่มีจำนวนจำกัด ขณะที่ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว มีปัจจัยเสี่ยงจากการแข่งขันสูงทั้งแบรนด์ในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องปัญหาการหลอกขายสินค้า ข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภค

สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว แม้จะได้อานิสงส์จากตลาดจีนและรัสเซียที่น่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีความไม่แน่นอนจากภัยธรรมชาติ และต้นทุนค่าพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ส่วนธุรกิจวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง เป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์ของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ด้วยงบประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท แต่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน การแข่งขันทางธุรกิจ ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง และนโยบายด้านผังเมือง

ขณะที่ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ มีปัญหาความล่าช้าและแออัดบริเวณชายแดน ทำให้การขนส่งล่าช้า และมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจบริการทางการเงิน มีปัจจัยเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความปลอดภัย ธุรกิจค้าปลีกทันสมัย มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการแข่งขันการตัดราคาหรือการส่งเสริมการขายของธุรกิจ ด้านธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต มีปัจจัยเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ธุรกิจออร์แกไนซ์มีปัจจัยเสี่ยงจากการเข้ามาของสื่อออนไลน์ และธุรกิจให้คำปรึกษาทางกฎหมายและบัญชี ซึ่งเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูงเช่นเดียวกัน

ธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนและบั่นทอนการดำเนินธุรกิจในปี 2560 นั้น ปัจจัยสนุน มีทั้งเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลต่อการบริโภคของภาคเอกชน ตัวเลขการส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่มีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่บั่นทอน ประกอบด้วย นโยบายเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีผลต่อภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน ความกังวลต่อภัยก่อการร้าย ทำให้การค้าการลงทุนของโลกซบเซา เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัญหาในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ มาตรการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทำให้อำนาจซื้อต่ำลง รวมทั้งสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากตัวเลขเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น