posttoday

ผู้ผลิตเคมีมะกันล็อบบี้พาณิชย์

09 ธันวาคม 2559

ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่มะกันล็อบบี้สำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี กรณีไทยจะลงมติให้ Carbosulfan เป็นสารอันตราย หวั่นทำราคาพุ่ง

ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่มะกันล็อบบี้สำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี กรณีไทยจะลงมติให้ Carbosulfan เป็นสารอันตราย หวั่นทำราคาพุ่ง
               
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท FMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตรของสหรัฐอเมริกา มียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 7 ของโลก ได้เข้าพบสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อสอบถามความเห็นของไทยกรณีที่สมาชิกอนุสัญญารอตเตอร์ดัม ซึ่งรวมถึงไทยด้วยจะลงมติให้สารเคมี Carbosulfan บรรจุอยู่ในบัญชีเคมีภัณฑ์อันตราย ตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ โดยคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารเคมีจะเสนอให้ประเทศสมาชิกลงมติในเดือนเม.ย.60
               
“บริษัท FMC เกรงว่า หากสารชนิดนี้ อยู่ในบัญชีสารต้องห้ามในอนุสัญญารอตเตอร์ดัม แล้ว จะส่งผลให้เคมีภัณฑ์ชนิดนี้มีราคาสูงขึ้น และหาซื้อได้ยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลงนำสารเคมีตัวอื่นมาใช้แทน และอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาป้องกันศัตรูพืชลดลงได้”
                
นางดวงพร กล่าวว่า ปัจจุบันสารเคมี Carbosulfan จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องขอรับใบอนุญาตนำเข้าจากกรมวิชาการเกษตร และไทยได้นำสารเคมีชนิดนี้ ไปใช้ในภาคการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะข้าว อ้อย และผลไม้ ดังนั้น การขึ้นบัญชีสารชนิดนี้เป็นสารเคมีอันตรายในอนุสัญญารอตเตอร์ดัม จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของไทยที่ใช้สารนี้แน่นอน เพราะไทยมีมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้ว
              
ทั้งนี้ อนุสัญญารอตเตอร์ดัม เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.2547 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความรับผิดชอบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสารเคมีอันตรายบางชนิด และปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี รวมถึงส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
              
อย่างไรก็ตามภาคีสมาชิก รวมทั้งไทย ต้องแจ้งการใช้มาตรการสำหรับสารเคมีต้องห้ามหรือที่ถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดภายในประเทศ, เสนอบัญชีรายชื่อสูตรผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง, แจ้งข้อมูลการส่งออกสารเคมีต้องห้าม หรือถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดให้สมาชิกผู้นำเข้าทราบก่อนการส่งออก, หากประเทศสมาชิกไม่อนุญาตให้นำเข้าจากประเทศใด ต้องปฏิเสธการนำเข้าสารเคมีชนิดนั้นจากประเทศอื่นด้วย และต้องไม่มีการผลิตสารเคมีชนิดนั้นขึ้นใช้ภายในประเทศ