posttoday

อียูเลื่อนพิจารณา สถานะไอยูยูไทย

01 ธันวาคม 2559

“บิ๊กฉัตร” เผยสถานะไอยูยู ของไทยส่อเลื่อนหลังอียูเปลี่ยนกรรมการ เชื่อแนวโน้มดีขึ้น

“บิ๊กฉัตร” เผยสถานะไอยูยู ของไทยส่อเลื่อนหลังอียูเปลี่ยนกรรมการ เชื่อแนวโน้มดีขึ้น

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 2560 เตรียมเดินทางไปยุโรปเพื่อชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของไทย เบื้องต้นทางสหภาพยุโรป (อียู) แจ้งว่า ขณะนี้อียูอยู่ระหว่างการเปลี่ยนคณะกรรมการ ดังนั้นอาจทำให้การพิจารณาสถานะของไทยล่าช้าออกไปอีกระยะหนึ่ง แต่ทั้งนี้เชื่อว่าไม่ว่าจะช้าหรือเร็วล้วนเป็นผลดีต่อประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้อียูได้ชื่นชมการแก้ไขของไทยที่มีความคืบหน้ามากและเป็นการแก้ไขที่ดี

“เราอาจต้องใช้เวลาในการจูนข้อมูลกับกรรมการชุดใหม่เล็กน้อย แต่เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะการแก้ไขของไทยมาถูกทาง อียูก็ชม อย่างไรก็ตามอียูได้ขอให้ไทยเข้มงวดในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบออนไลน์” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่อาเซียนเห็นตรงกันคือการเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่งที่จะเป็นอนาคตของโลก เนื่องจากทรัพยากรทางธรรมชาติลดลง ซึ่งในเรื่องนี้จะมีการหยิบยกมาหารือและในไทยจะมีการหารือกันเข้มข้มอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในปี 2560 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีเกษตรด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) โดยจะมีการหารือร่วมกันจัดทำนโยบายประมงอาเซียนเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งในที่ประชุม AMAF ครั้งที่ 38 ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ได้มีฉันทามติที่จะร่วมกันทำเรื่องนี้ ดังนั้นประมาณเดือน มี.ค. 2560

นอกจากนี้ ในเดือน ก.ค. 2560 ไทยจะจัดประชุมวิชาการด้านการบริหารทรัพยากรประมง ระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติ และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุม
โลก เพื่อประชาคมอาเซียนจะสามารถนำผลที่ได้จากการประชุมทั้งสองครั้ง จากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน อันรวมถึงผู้ประกอบการประมงทั้งรายย่อยและรายใหญ่ในทุกระดับการผลิต มาประกอบการร่างนโยบายประมงร่วมกัน

การประชุมในระดับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนในครั้งนี้จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการ และหวังว่าประชาคมอาเซียนจะร่วมกันผลักดันจุดยืนการทำประมงอย่างยั่งยืนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2562 และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันในการจัดทำนโยบายประมงร่วมอาเซียน โดยแสวงหาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิก องค์กรระดับภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศ และจะนำผลที่ได้จากการประชุมไปกำหนดนโยบายประมงสู่ความยั่งยืนต่อไป