posttoday

เอสเอสไอเซ็นเอ็มโอยูซื้อโรงเหล็กยุโรป

27 สิงหาคม 2553

เอสเอสไอ ทุ่ม 500 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อโรงถลุงเหล็กยุโรป ขณะนี้เซ็นเอ็มโอยูแล้ว

เอสเอสไอ ทุ่ม 500 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อโรงถลุงเหล็กยุโรป ขณะนี้เซ็นเอ็มโอยูแล้ว

นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (เอสเอสไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553 บริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ กับ Corus UK Limited (Corus) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Tata Steel Group ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กรายสำคัญของโลก เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการพิจารณาเข้าทำรายการซื้อสินทรัพย์โรงงานถลุงเหล็ก Teesside Cast Products ของ Corus และการวางกรอบทิศทางและกำหนดขอบเขตเงื่อนไขอื่นๆ โดยการลงทุนจะประกอบด้วยการซื้อสินทรัพย์การผลิตเหล็กต้นน้ำ มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการจัดซื้อวัตถุดิบ สินค้าคงเหลือ และสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ 

“Teesside Cast Products เป็นโรงงานผลิตเหล็กแท่งแบน (Slab) ครบวงจร โดยนับเป็นโรงงานถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป มีกำลังการผลิตเหล็กแท่งแบน ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปีโดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่เมือง Teesside ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ  ทั้งนี้ หน่วยการผลิตของ Teesside Cast Products ครอบคลุมที่ดินทั้งหมดรวมประมาณ 800 เอเคอร์ (2,000 ไร่) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยการถลุงเหล็ก (Iron-making Facilities) หน่วยการผลิตเหล็กกล้า (Steel-making Facilities) รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและการขนส่งเพื่อรองรับกระบวนการผลิตตามกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ โดยการแสดงเจตนารมณ์เพื่อการซื้อสินทรัพย์ในครั้งนี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของเอสเอสไอที่ต้องการจะขยายกระบวนการผลิตไปยังอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กต้นน้ำ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตเหล็กครบวงจร และสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของเอสเอสไอในอนาคต” นายวินกล่าว

นายวินกล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ใน 4 ด้านหลักๆ คือ
1.จะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ของบริษัทในการขยายธุรกิจสู่การผลิตเหล็กต้นน้ำเพื่อรองรับการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในปัจจุบัน และมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นครบวงจรชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2.การลงทุนในธุรกิจเหล็กต้นน้ำจะช่วยให้บริษัทสามารถผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับการใช้งานของบริษัท และช่วยให้การบริหารเงินทุนหมุนเวียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.ลดความผันผวนของผลกำไรซึ่งเป็นปัญหาของธุรกิจเหล็กอันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาเหล็กแท่งแบน  (Slab) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก 
4.เพิ่มความยืดหยุ่นและกระจายความเสี่ยงในกระบวนการผลิตและการตลาดซึ่งโรงงานถลุงเหล็กในประเทศอังกฤษจะช่วยเพิ่มทางเลือกทางการผลิตและการตลาด ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงของธุรกิจลดลง และมีโอกาสในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น

ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของสินทรัพย์ การวางแผนและจัดหาแหล่งเงินทุน รวมถึงการเจรจากับทาง Corus เพื่อให้บรรลุข้อตกลงสำหรับการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งหากมีความคืบหน้าที่สำคัญ บริษัทจะแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมตามลำดับต่อไป