posttoday

ผุดรถไฟเร็วสูงไทย-มาเลย์

24 พฤศจิกายน 2559

ไทยเตรียมเจรจามาเลเซียทำรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯกัวลาลัมเปอร์ ด้านจีน-ญี่ปุ่น ชิงเสนอตัวทำผลศึกษาให้

ไทยเตรียมเจรจามาเลเซียทำรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯกัวลาลัมเปอร์ ด้านจีน-ญี่ปุ่น ชิงเสนอตัวทำผลศึกษาให้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เตรียมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของประเทศมาเลเซียถึงโครงการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ หลังจากทางประเทศมาเลเซียแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการจัดทำโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มอบหมายให้คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมหารือกับระดับเจ้าหน้าที่ของประเทศมาเลเซียก่อน จากนั้นจะนัดหารือในระดับรัฐมนตรี เพื่อกำหนดกรอบการทำงานและศึกษาความเหมาะสมร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลไทยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางภาคใต้อยู่แล้ว จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าควรดำเนินการอย่างไร

"แผนเดิมไทยจะทำโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งจะลงภาคใต้อยู่แล้ว จึงต้องศึกษาให้รอบคอบว่าควรต่อยอดจากช่วงหัวหินหรือเป็นเส้นใหม่เลย แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคือต่อยอดจากรถไฟความเร็วสูงหัวหินไปถึงปาดังเบซาร์ จ.สงขลา" นายอาคม กล่าว

ด้าน นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจากับคณะทำงานของประเทศมาเลเซียถึงขอบเขตการทำงานร่วมกัน จากนั้นจะหารือด้านความเหมาะสมของโครงการว่าจะเป็นในรูปแบบใด เช่น การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น และการศึกษาความเหมาะสมฉบับสมบูรณ์ ตลอดจนการออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งขณะนี้มีประเทศญี่ปุ่นและจีนที่แสดงความสนใจจะศึกษาความเหมาะสมโครงการนี้เบื้องต้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์นั้น เป็นหนึ่งในแผนการเชื่อมต่อระบบขนส่งในระดับภูมิภาค One belt One road เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งอาเซียนและทวีปยุโรป โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจีน-สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเร่งผลักดัน เพราะถ้ามีการลงทุนรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ด้วย ก็สามารถเชื่อมต่อไปถึงประเทศลาวและจีนในอนาคต

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ จะมีระยะทางประมาณ 1,400 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็นระยะทางในประเทศมาเลเซียประมาณ 400-500 กม. ความเร็วอย่างต่ำ 250 กม./ชั่วโมง (ชม.) ส่งผลให้สามารถเดินทางระหว่างเมืองหลวงของทั้งสองประเทศได้ในระยะเวลาประมาณ 5-6 ชม. และไทยจะต้องวางรางขนาด 1.435 เมตรใหม่ เพราะปัจจุบันมีแต่โครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรเท่านั้น โดยเส้นทางนี้จะใช้ขนส่ง ผู้โดยสารเป็นหลัก เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศที่คาดว่าจะมีการเดินทางระหว่างกันมากขึ้น