posttoday

เกาะติดยกเลิกทีพีพีแนะรัฐเจรจาทวิภาคีอียู

16 พฤศจิกายน 2559

หอการค้าไทยประเมินสหรัฐเลิกทีพีพี ดันไทยมีโอกาสค้าเพิ่ม แนะรัฐเร่งเจรจาการค้าทวิภาคี ขยายความร่วมมือต่างชาติ

หอการค้าไทยประเมินสหรัฐเลิกทีพีพี ดันไทยมีโอกาสค้าเพิ่ม แนะรัฐเร่งเจรจาการค้าทวิภาคี ขยายความร่วมมือต่างชาติ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา มีท่าทีในการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) อาจส่งผลดีต่อประเทศไทยในด้านโอกาสทางการค้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เนื่องจากที่ผ่านมาไทยไม่ได้ตกลงเข้าร่วมข้อตกลง ทีพีพี ซึ่งจะต้องติดตามความชัดเจนหลังเดือน ม.ค. 2560 ภายหลังนายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการจะดำเนินนโยบายอย่างไร

"ในด้านของความรู้สึกจะมีผลดีขึ้นต่อเศรษฐกิจของไทย เพราะบางประเทศเข้าทีพีพีไปแล้วแต่ไทยยังไม่ได้เข้า หลังจากนี้ก็เหมือนกลับมาอยู่ในสถานะที่เท่ากัน แต่ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนในรูปแบบใด ซึ่งสหรัฐต้องประเมินก่อนว่าเขาจะเสียหายหรือไม่ เพราะได้ลงนามร่วมไปกับหลายประเทศ" นายอิสระ กล่าว

นอกจากนี้ มองว่าการค้าขายระหว่างไทยและประเทศที่มีความเติบโตทางการค้าควรเป็นไปในรูปแบบทวิภาคี เช่น อิหร่าน ปากีสถาน และสหภาพยุโรป (อียู) เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการทางด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การบริการ ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยเฉพาะการเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและอียูที่ควรดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว เพราะหากดำเนินการตามแผนจะสร้างความได้เปรียบในอุตสาหกรรมอาหารและชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยุโรป เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามได้ทำข้อตกลงดังกล่าวร่วมกับอียูแล้ว โดยคาดว่าอียูอาจจะเดินหน้าเจรจากับไทยเมื่อมีการเลือกตั้งช่วงปีหน้าตามที่รัฐบาลประกาศไว้

อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยกำหนดจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. 2559 ณ จ.พระนครศรีอยุธยา ในหัวข้อ "นวัตกรรม ทำจริง สู่ประเทศไทย 4.0" เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับประเทศไทย รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางด้านการค้าการลงทุน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การยกระดับประสิทธิภาพแรงงานคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งนี้การค้าขายในรูปแบบเทรด 4.0 ต้องนำนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีมาจัดการกระบวนการค้าให้มีประสิทธิภาพ