posttoday

เอกชนดันส่งออกข้าวคุณภาพสูง

26 สิงหาคม 2553

เอกชนสนองนโยบายรัฐผลักดันส่งออกข้าวคุณภาพสูง คาดเพิ่มมูลค่าส่งออกได้ 10-20% เน้นข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง ข้าวกล้อง พร้อมเสนอรัฐจัดหาพันธ์ข้าวคุณภาพดีให้เพียงพอ สร้างความเชื่อมั่นลูกค้า

เอกชนสนองนโยบายรัฐผลักดันส่งออกข้าวคุณภาพสูง คาดเพิ่มมูลค่าส่งออกได้ 10-20% เน้นข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง ข้าวกล้อง พร้อมเสนอรัฐจัดหาพันธ์ข้าวคุณภาพดีให้เพียงพอ สร้างความเชื่อมั่นลูกค้า

นายสุพจน์ วงศ์จิรัฐิติกาล นายกสมาคมค้าข้าวไทย เปิดเผยภายหลังงานเสวนาและนิทรรศการ : การเพิ่มมูลค่าข้าวไทยเพื่อการแข่งขันในตลาดสากล ว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาหานวัตกรรมเข้ามาเพิ่มมูลค่าข้าวไทย โดยคาดว่าจะสามารถทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ 10-20% ของมูลค่าการส่งออกปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 1.8-2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งไทยต้องเน้นการส่งออกข้าวที่มีคุณภาพให้มากขึ้น ไม่ใช้เน้นการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำแข่งกับเวียดนาม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทย ข้าวนึ่ง หรือข้าวกล้องที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

ขณะนี้ไทยเสียตลาดข้าวด้อยคุณภาพให้กับเวียดนามแล้ว 25% เนื่องจากข้าวจากเวียดนามราคาถูกกว่าข้าวไทยประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ไทยสามารถไปตีตลาดแอฟริกาขายข้าวนึ่งได้ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า ประกอบกับโรงสีมีการพัฒนาที่ดี และอินเดียผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ ส่งออกข้าวนึ่งได้น้อย ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกได้สูงขึ้น หรือการส่งออกข้าวกล้องที่ตอนนี้สามารถทำตลาดได้มากขึ้น 5-10% เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารมาก เป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป และแอฟริกา โดยสามารถส่งออกได้ในราคาตันละ 420 -430 เหรียญสหรัฐ แต่ต้นทุนการผลิตถูกกว่าเพราะขัดสีแค่รอบเดียว เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องเร่งส่งเสริมข้าวหอมมะลิให้เป็นที่รู้จัก รักษาคุณภาพสินค้าให้ลูกค้าเชื่อมั่นในข้าวของไทย เพราะเวียดนามก็เริ่มมีข้าวหอมออกสู่ตลาดบ้างแล้ว โดยขายในราคาถูกกว่าไทย แต่คุณภาพยังสู้ข้าวหอมมะลิจากไทยไม่ได้

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้น่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากในช่วง 1-2 เดือนนี้ ปริมาณข้าวเปลือกจะน้อยลง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลจะพิจารณาระบายสต๊อกข้าวในคลังของรัฐให้เหลือน้อยลง

นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวไทยที่ส่งออกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นข้าวเกรดพรีเมี่ยม เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวพันธุ์ชัยนาท ที่นำไปทำข้าวนึ่ง รัฐบาลจึงต้องส่งเสริมการขายข้าวแบบนี้ให้มากขึ้น เน้นมูลค่าไม่ใช่ปริมาณ โดยการแนะนำให้ผู้บริโภครู้จักการบริโภค รู้ถึงคุณภาพที่แท้จริงของข้าวไทยว่าข้าวหอมมะลิแท้ หอมมะลิเทียมต่างกันอย่างไร 

“อยากให้มีการจัดประชาสัมพันธ์พาผู้ซื้อต่างประเทศเข้ามาดูทุ่งนาในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ไปดูโรงสีแหล่งแปรรูป ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและเชื่ออย่างสนิทใจว่าข้าวไทยเป็นข้าวหอมแท้ และจะต้องมาซื้อจากไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกทางหนึ่ง” นายชาญชัย กล่าว

รวมทั้งต้องเปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นพันธมิตรทางการค้า โดยอาเซียนควรจะรวมตัวกันในประเทศผู้ปลูกข้าว ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งอาหารของโลก โดยมีเป้าหมายที่จำทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น และมีราคาที่เหมาะสม เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายในประเทศด้วย

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้ คือเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ชาวนาต้องไปซื้อข้าวถุงขาว มาใช้แทน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับรองจากกรมการข้าว ทำให้ข้าวที่ปลูกได้มีคุณภาพต่ำ จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งพัฒนาพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูทำงานควรหาพืชผลอื่นๆ ที่ขายได้มีตลาด มาให้เพาะปลูกทดแทน การทำนาจะได้ลดเหลือเพียง 2 ครั้ง ทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้พัก มากขึ้น ข้าวที่ปลูกได้ก็จะมีคุณภาพดี เป็นต้น