posttoday

ชัยวุฒิสั่งเช็คเพิ่มโครงการเข้าข่ายกิจการรุนแรง

26 สิงหาคม 2553

“ชัยวุฒิ” ตั้งรับรอประกาศกิจการรุนแรงสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตรวจเช็คเพิ่มโครงการที่ไม่ได้อยู่ในมาบตาพุดแต่เข้าข่ายกิจการรุนแรง

“ชัยวุฒิ” ตั้งรับรอประกาศกิจการรุนแรงสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตรวจเช็คเพิ่มโครงการที่ไม่ได้อยู่ในมาบตาพุดแต่เข้าข่ายกิจการรุนแรง

นายชัยวุฒิ  บรรณวัฒน์   รมว.อุตสาหกรรม  เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ว่า  ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรวบรวมประเภทกิจการลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในมาบตาดพุด และอาจเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามร่างประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(เฮชไอเอ)

นอกจากนี้ควรเตรียมหามาตรการรองรับเพื่อป้องกันไม่ให้กิจการดังกล่าวได้รับผลกระทบ โดยคาดว่าประกาศประเภทกิจการรุนแรงจะนำเสนอเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นน่าจะสามารถประกาศออกมาได้

“ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีโครงการใดเข้าข่ายประเภทกิจการรุนแรงบ้างต้องรอรายละเอียดของประกาศประเภทกิจการรุนแรงออกมาให้ชัดเจนก่อนจึงจะสามารถจัดประเภทของแต่ละโครงการได้ ซึ่งผมขอให้มีการพิจารณาในส่วนของโครงการที่ไม่ได้อยู่ใน 76 โครงการด้วย โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเหมืองแร่(กพร.) จะเป็นผู้พิจารณาและส่งมาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรวบรวมอีกครั้ง”นายชัยวุฒิ กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กล่าวว่า  สำหรับกิจการในส่วนที่กพร.รับผิดชอบและเป็นโครงการที่เข้าข่ายกิจการรุนแรง คือ เหมืองแร่เหล็ก ตะกั่ว ทองคำ เหมืองแร่ในทะเล    ซึ่งยอมรับว่าเอกชนมีข้อกังวลว่ากิจการบางอย่างที่ได้ใบอนุมัติ อนุญาตประทานบัตร ไปแล้วหลังรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลบังคับใช้  เพราะหากเข้าข่ายกิจกีรรุนแรงจะต้องเข้าสู่กระบวนการทำเฮชไอเอ   โดยมีคำถามตามมาว่าจะต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือไม่  ประเด็นเหล่านี้จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน

นายยงยุทธ เพ็ชรสุวรรณ ประธานสภาการเหมืองแร่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการค่อนข้างกังวลถึงประกาศกิจการรุนแรงที่จะออกมาจะครอบคลุมเหมืองทั่วไปหรือไม่    แม้ร่างประกาศเบื้องต้นที่ออกมาจะไม่เข้าข่ายก็ตาม แต่ถ้าภาคประชาชนโดยเฉพาะสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้มีหนังสือเตือนมาให้ทำ เฮชไอเอด้วย

ก่อนหน้านี้ได้เสนอในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ ว่า ถ้าเหมืองทั่วไปเป็นกิจการรุนแรง จะทำให้ผู้ที่ได้ใบอนุญาตหลังปี 2550 ที่มีอยู่ประมาณราว 181 กิจการจะต้องทำ เฮชไอเอ ต้องหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อผ่านกระบวนการตามมาตรา 67(2) ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับเหมืองหิน ยิปซั่ม

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถฟ้องร้องได้หากเห็นว่ากิจการใดมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมดังนั้นเชื่อว่าภาพรวมเอกชนคงไม่ต้องการให้มีปัญหาตามมา  แม้ไม่เข้าข่ายกิจการรุนแรงก็คงจะทำ เฮชไอเอไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้ประกอบกับอีไอเออยู่แล้ว ส่วนกิจการใดที่คลุมเคลืออาจจะต้องผ่านกระบวนการวินิจฉัยซึ่งเท่าที่พิจารณากิจการที่จะเข้าข่ายรุนแรงมีไม่มาก