posttoday

กูรูญี่ปุ่นแนะทฤษฎีชั้นเซียน ทำกำไรได้ทุกสถานการณ์

10 พฤศจิกายน 2559

องค์กรที่สามารถเติบโตได้ในทุกสภาพปัจจัยที่ผันผวนได้ ต้องเป็นองค์กรที่มองกว้าง มองไกล มองลึก

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

โลกแห่งการค้าที่มีการแข่งขันสูง สินค้าหรือบริการต่างต้องช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและทำกำไรให้มากขึ้น ดังนั้นสินค้าหรือบริการของไทยจึงต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ภายใต้ทฤษฎีองค์กรชั้นเซียน การบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของกูรูจากญี่ปุ่น เพื่อให้ยังเป็นองค์กรที่โตได้ด้วยนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ เติบโตได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางความผันผวนโลกที่เปลี่ยนเร็วมาก

ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาบันวิจัยพลังองค์กร เปิดเผยในงานสัมมนาสู้สุดฤทธิ์ พลิกธุรกิจให้กลับมาผงาด ว่า สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงและพลิกผันได้ตลอดเวลา มีทั้งวิกฤตและโอกาส หลักการสร้างผู้บริหารทฤษฎีองค์กรชั้นเซียน ระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหารต้องสามารถมองสถานการณ์และวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจถึงยุทธศาสตร์ของบริษัท และนำพาธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืนหรือหายนะ

ขณะที่ในแง่ของการขยายธุรกิจ ต้องมองถึงการเปิดตลาดต่างประเทศ เพราะการทำตลาดเฉพาะในประเทศไม่เพียงพออีกต่อไป นอกจากนี้การสร้างการเติบโตยังต้องการแตกไลน์สินค้าใหม่ๆ มากกว่าจะทำเพียงแค่สินค้าเดิมๆ เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันโครงสร้างขององค์กรก็ต้องเตรียมพร้อมสร้างบุคลากรสำหรับการทำตลาดต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในองค์กร เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง

สำหรับไทยในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่การแข่งขันมีความรุนแรงจากประสบการณ์มาร่วม 60 ปี ความหมายของการทำตลาดที่ใช้ได้ผลดี คือ ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และผลิตสินค้าออกมาตอบสนองกับความต้องการมากที่สุด โดยที่สินค้านั้นต้องทำกำไรให้กับบริษัท นอกจากนี้การทำตลาดต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ วิเคราะห์งบการเงินต่างๆ เขียนแผนลดต้นทุนจะช่วยให้แบรนด์สามารถรักษาส่วนแบ่งและเป็นส่วนหนึ่งที่ประคองธุรกิจให้อยู่รอด

“คีย์ซัคเซสของการบริหารธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันรุนแรง ผู้บริหารต้องมีทัศนคติเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจ ต้องสร้างสรรค์และพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา เหมือนเช่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถยนต์จากญี่ปุ่นยังสามารถครองตลาดได้ แตกต่างจากกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือที่มีความมั่นใจในเทคโนโลยีและหยุดนิ่งการพัฒนาสิ่งใหม่ ทำให้สูญเสียตลาดให้กับคู่แข่ง”

คะซุฮิโระ กล่าวว่า สูตรสำเร็จการสร้างผลิตภัณฑ์ยอดนิยม นักการตลาดต้องอัพเดทข้อมูลสนับสนุนอย่างเป็นระบบทุกวัน โดยเฉพาะจุดแข็งขององค์กร นอกจากนี้สินค้าที่มีผลวิจัยจากผู้บริโภคชื่นชอบสินค้าไม่ถึง 80% ห้ามส่งสินค้าลงสู่ตลาดอย่างเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการไม่ประสบความสำเร็จสูง การพัฒนาสินค้าต้องมีความแตกต่าง ขณะที่การตั้งราคาสินค้าสูงกว่าคู่แข่ง ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภค ส่วนกลยุทธ์ราคาควรเป็นการต่อสู้สิ่งสุดท้าย

ในส่วนของการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทให้เป็นองค์กรน่าเชื่อถือด้วยแบรนด์สินค้าแข็งแกร่ง เป็นเรื่องต้องปลูกฝังให้ บริษัทนี้ไม่ใช่บริษัทธรรมดา แต่เป็นบริษัทที่มีความสุดยอดให้ได้ เพื่อสร้างเกราะของแบรนด์เข้าไปอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันลดราคาในส่วนนี้ผู้บริหารต้องค้นหาสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือในองค์กร เริ่มตั้งแต่ผู้บริหาร สินค้า หรือกระทั่งบริษัทเองก็ตาม ขณะที่การจับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้เกิดภาพลักษณ์ว่าสินค้าของบริษัทราคาแพง แต่เป็นของดี

หากจะดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและยั่งยืนในยุคนี้ บริษัทต้องดำเนินธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในองค์กร คู่ค้า ผู้ถือหุ้น รวมไปถึงสังคม และการทำธุรกิจให้อยู่รอดได้อีก 10 ปีและตลอดไปนั้น แค่มีเทคนิคที่ตัวเองชำนาญไม่พอ ต้องมีพื้นฐานแน่นด้วย รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอๆ

จากภาพรวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่าองค์กรที่จะขึ้นเป็นระดับเซียนหรือขั้นเทพ สามารถเติบโตได้ในทุกสภาพปัจจัยที่ผันผวนได้ ต้องเป็นองค์กรที่มองกว้าง มองไกล มองลึก โดยมีผู้บริโภคและผู้เป็นหุ้นส่วน หรือสเตคโฮลเดอร์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากทำได้เช่นนี้องค์กรก็จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน