posttoday

ไทยพาณิชย์ประเมิน"โตโยต้า"ร่วมวงรถยนต์ไฟฟ้าปลุกตลาดคึก

10 พฤศจิกายน 2559

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินโตโยต้าเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าช่วยปลุกให้ตลาดคึกคัก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินโตโยต้าเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าช่วยปลุกให้ตลาดคึกคัก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่บทวิเคราะห์ โดยระบุว่า โตโยต้าประกาศอย่างเป็นทางการว่ากำลังพิจารณาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วย แม้ยืนยันมาตลอดว่ารถพลังงานไฮโดรเจน (FEV) จะเป็นเป้าหมายหลักสำหรับรถในยุคหน้า ตรงข้ามกับคู่แข่งสำคัญอย่าง โฟล์คสวาเกน ที่ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหลังกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ดีเซล

ที่ผ่านมา โตโยต้า สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นหลัก ซึ่งมีการใช้ระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าน้อยกว่าเพื่อใช้แทนไปจนกว่าตลาดจะพร้อมใช้รถพลังงานไฮโดรเจน แต่เนื่องจากตลาดรถยนต์ในหลายประเทศทั่วโลกมีการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและจีน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ของ โตโยต้า ดังกล่าว

โตโยต้าน่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ยาก เพราะมีการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีไว้หลากหลายอยู่แล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีกระแสหลักในอนาคตยังมีทิศทางที่ไม่แน่ชัดที่จะรองรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป อีกทั้งต้นทุนวิจัยและพัฒนาสูงมาก ซึ่งในปี 2017 โตโยต้ามีงบประมาณด้านนี้ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังได้เริ่มมีรถปลั๊กอินไฮบริด (PEV) ซึ่งมีระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้นออกมาสู่ตลาด และรถยนต์ไฟฟ้าอีกสองรุ่นที่เคยจำหน่ายในสหรัฐ

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกจะขยายตัวได้เร็วขึ้นจากการแข่งขันที่มากขึ้น เป็นที่คาดการณ์กันว่าการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างโตโยต้าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านต้นทุนซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับของตลาดมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าราคา รถยนต์ไฟฟ้า ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กอาจลดลงไปได้เกือบครึ่งหลังปี 2020 จากปัจจุบันที่ประมาณ 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ

EIC มองว่า การเตรียมพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น หากต้องการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานในระยะยาวต่อไป แม้ในระยะสั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยจะยังคงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในโลกจะยังคงน้อยกว่ามาก แต่แนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้า (electrification) ทั้งในส่วนการขับเคลื่อน (powertrain) และชิ้นส่วนอื่นๆ (electronic parts) เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจน แม้ในปัจจุบัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยต้องเริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น กลุ่มมอเตอร์หรือเซ็นเซอร์ เป็นต้น