posttoday

แตกไลน์น้ำมะพร้าวเสริมทัพ รับตลาดโลกพุ่ง3.7หมื่นล้าน

12 ตุลาคม 2559

จากปัจจัยที่หนุนการเติบโตของตลาดน้ำมะพร้าวอย่างรอบทิศทำให้ธุรกิจน้ำมะพร้าวทั้งแบรนด์ใหญ่และเล็กเปิดศึกยึดหัวหาดทั้งในไทยและตลาดโลก

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

กระแสดื่มน้ำมะพร้าวเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นในยุโรป อเมริกา และแพร่หลายมาสู่เมืองไทย จุดพลุให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงโอกาสการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยประมาณการว่าในปี 2563 มูลค่าตลาดน้ำมะพร้าวทั่วโลกจะขยับไปแตะ 3.7 หมื่นล้านบาท โตปีละ 25% สำหรับในไทยอีก 5 ปี มูลค่าจะเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท

พรศักดิ์ อมรศรี ประธานเจ้าหน้าที่สายบริหารงานกลาง บริษัท โอพีจีเทค ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมะพร้าวโคคู เปิดเผยว่า พฤติกรรมการดื่มน้ำมะพร้าวนั้นเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก ในยุโรปนิยมดื่มเป็นเครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์ บริษัทจึงแตกกลุ่มธุรกิจน้ำมะพร้าวภายใต้แบรนด์โคคู วางตำแหน่งตลาดระดับพรีเมียม-แมส สำหรับทำตลาดในไทยและต่างประเทศ อาทิ จีน สปป.ลาว กัมพูชา และญี่ปุ่น จะเข้าไปทำตลาดปีหน้า

ทั้งนี้ช่วงแรกใช้ไลน์การผลิตจากโรงงานที่บริษัทมีอยู่ในกลุ่มธุรกิจน้ำมันปาล์ม พร้อมทั้งเตรียมทุ่มงบกว่า 200-300 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตน้ำมะพร้าวขึ้นมา กำลังพิจารณาสร้างที่ จ.เพชรบุรี บนพื้นที่ 18 ไร่ หรือทางภาคใต้เพิ่มกำลังผลิต 50% หรือจาก 1 ล้านกระป๋อง/เดือน เพิ่มเป็น 2 ล้านกระป๋อง

“จุดเด่นโคคูเป็นน้ำมะพร้าว 100% แต่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้อื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ น้ำมะพร้าวผสมทุเรียน เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งที่อยู่ในตลาด โดยทุ่มงบ 15-20 ล้านบาท สร้างแบรนด์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย จัดโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าต่างๆ อาทิ แฟมิลี่มาร์ท และจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์แอพพลิเคชั่น GoGetDrink” พรศักดิ์ กล่าว

สำหรับปีแรกรายได้กลุ่มธุรกิจมะพร้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศวางเป้าหมาย 100 ล้านบาท ในอีก 3-5 ปีหวังเป็นผู้นำตลาดแทนที่โคโค่แม็ก อีกทั้งยังเตรียมแตกโปรดักต์ไลน์ไปสู่น้ำมันมะพร้าว ปัจุบันธุรกิจหลักมาจากผลิตน้ำมันปาล์ม มีสัดส่วนรายได้ 80-90% ส่วนที่เหลือ 10-20% เป็นอื่นๆ โดยรายได้ทั้งบริษัทตั้งเป้าเติบโต 15% หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท 

ขณะเดียวกันความต้องการของมะพร้าวเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่การเพาะปลูกในไทยกลับลดลงนับตั้งแต่ปี 2549 ทั้งจากภาวะภัยแล้ง น้ำท่วม ดังนั้นพื้นที่เมื่อปี 2555 จาก 1.6 ล้านไร่ ปัจจุบันจึงเหลือเป็น 1.3-1.4 ล้านไร่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม 

ศศิวรรณ นวลศรี ผู้จ้ดการอาวุโส ฝ่ายขายและการตลาดในประเทศ บริษัท ไทยอกริฟู้ดส์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกะทิสดบรรจุกล่องอร่อยดี กล่าวว่า 5 ปีข้างหน้าบริษัทพิจารณาสร้างโรงงานผลิตธุรกิจมะพร้าวที่ อินโดนีเซีย จากปัจจุบันมีโรงงานในเวียดนาม จึงตัดสินใจบริษัทนำเข้าน้ำมะพร้าวแบรนด์โฟโค่เข้ามาทำตลาดในไทยในเดือน ต.ค. เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอ จากก่อนหน้านี้มีธุรกิจหลักกะทิสดสร้างรายได้ 90%

ขณะที่น้ำมะพร้าวโฟโค่มีด้วยกัน 3 รสชาติ ประกอบด้วย น้ำมะพร้าวเผา 100% น้ำมะพร้าวรสน้ำผึ้งผสมมะนาว วางเป้าหมายไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้น้ำมะพร้าวเพิ่มเป็น 20% โดยบริษัททุ่มงบตลาดทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์ราว 30 ล้านบาท แบ่งเป็นงบ 20 ล้านบาท สำหรับทำตลาดกะทิสด

“แนวโน้มการใช้กะทิสดบรรจุกล่องเติบโต 10-15% อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายของแม่บ้านยุคใหม่ คาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าสัดส่วนการใช้กะทิสดบรรจุกล่องเพิ่มจาก 40% เป็น 50% ส่วนกะทิสดจาก 60% เป็น 50% สำหรับรายได้ตั้งเป้าเติบโต 10-15% หรือราว 3,000 ล้านบาท” ศศิวรรณ กล่าว

ด้านกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์อย่างเซ็ปเป้ก็เล็งเห็นถึงโอกาสรุกขยายพอร์ตโฟลิโอครั้งใหญ่ ด้วยการใช้งบ 140 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นบริษัท ออล โคโคผู้ดำเนินธุรกิจแปรรูปมะพร้าวในสัดส่วน 40% ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ กล่าวว่า บริษัท ออล โคโค มีธุรกิจจากมะพร้าวด้วยกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ ไอศกรีม พุดดิ้ง และโดยเฉพาะน้ำมะพร้าว ซึ่งบริษัทวางแผนส่งออกไปทำต่างประเทศภายใต้แบรนด์ใหม่ 

“ในปี 2561 บริษัทเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นบริษัท ออล โคโค เป็น 51% และในปี 2563 เข้าซื้อกิจการด้วยการถือหุ้นเพิ่มเป็น 60% มั่นใจว่าอีก 5 ปี รายได้ของบริษัท ออล โคโค เพิ่มจาก 100 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ส่วนเซ็ปเป้สิ้นปีโต 15% มีรายได้ 2,800 ล้านบาท”ปิยจิต กล่าว

จากปัจจัยที่หนุนการเติบโตของตลาดน้ำมะพร้าวอย่างรอบทิศ ประกอบกับกระแสสุขภาพมาแรง ทำให้ธุรกิจน้ำมะพร้าวทั้งแบรนด์ใหญ่และเล็กเปิดศึกยึดหัวหาดทั้งในไทยและตลาดโลก