posttoday

สินค้างัดกลยุทธ์ Collaboration ต่อยอดทุกมิติดันธุรกิจโตเร็ว

05 ตุลาคม 2559

นักการตลาดหลายรายเริ่มนำกลยุทธ์การประสานร่วมมือกับพันธมิตร มาต่อยอดการทำตลาดในทุกมิติ

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ปีนี้จะเห็นว่านักการตลาดหลายรายเริ่มนำกลยุทธ์การประสานร่วมมือกับพันธมิตร (Collaboration) มาต่อยอดการทำตลาดในทุกมิติ ทั้งการแตกไลน์สินค้าใหม่ การขยายธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจหนึ่ง หรือกระทั่งการจัดทำแคมเปญตลาดแปลกที่เป็นสีสันใหม่ๆ

รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานบริหารปฏิบัติการ บริษัท มาลีกรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผลไม้มาลี เปิดเผยว่า กลยุทธ์การประสานความร่วมมือกับพันธมิตร (Collaboration) เป็นการดึงความเชี่ยวชาญหรือศักยภาพของพันธมิตรมาผสานกับความแข็งแกร่งของธุรกิจที่มีอยู่ร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์การตลาดใหม่ๆ สำหรับมาลีใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่แล้วไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่นอกเหนือจากน้ำผลไม้

ทั้งนี้ มาลีได้ร่วมทุนกับบริษัทเมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จัดตั้งบริษัท เมก้า มาลี ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยเมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ มีความแข็งแกร่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับมาลีมีความเชี่ยวชาญด้านน้ำผลไม้ นำไปสู่การดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติแบรนด์เมก้า มาลี ซึ่งจะเปิดตัวกลางปีหน้า ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยเสริมสินค้าในพอร์ตโฟลิโอให้มีความหลากหลาย เพื่อทำตลาดในไทยและขยายสู่ตลาดต่างประเทศ 

“กลยุทธ์ประสานความร่วมมือทำให้มาลีไม่ต้องไปสร้างผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์เอง ไม่ต้องลองถูกหรือลองผิดให้เสียเวลา เพราะอุปสรรคของการทำตลาดน้ำผลไม้มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท คือเมืองไทยมีผลไม้สดจำนวนมาก ผู้บริโภคคนไทยจึงมีอัตราการดื่มน้ำผลไม้เพียง 4 ลิตร/คน/ปี ส่งผลให้ตลาดเติบโตไม่มากนัก แต่การขยายสู่น้ำผลไม้ฟังก์ชันนัลจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับตลาดและธุรกิจของมาลี”

ในส่วนวงการสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยอย่าง “ดีเอพีพี” ก็ร่วมมือกับแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ผลิตสินค้ากลุ่มใหม่ออกมาสร้างสีสันสินค้าภายในร้านนอกเหนือจากแบรนด์เสื้อผ้าที่มีอยู่

ศิริทิพย์ ศรีไพศาล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์แบรนด์ดีเอพีพี บริษัท แดพเพอร์ เจ็นเนอรัล อะแพเร็ล กล่าวว่า บริษัทนำกลยุทธ์ประสานความร่วมมือกับพันธมิตรใน 4 วงการแฟชั่นโดยร่วมกันออกแบบสินค้า พร้อมกับใช้ความเชี่ยวชาญพันธมิตรแต่ละรายผลิตสินค้าแบรนด์ดีเอพีพีให้

สำหรับความร่วมมือกันก่อนหน้านี้ บริษัทได้จับมือกับแบรนด์นาฬิกาชั้นนำจากญี่ปุ่น (Tacs) แว่นตากันแดดจากอิตาลี (Redele) กระเป๋าจากฮ่องกง (Standard hunter) และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ทำจากไม้ (Wood’d) เช่น เคสโทรศัพท์ กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีเอพีพีให้มีความเป็นอินเตอร์ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้รวดเร็ว โดยที่บริษัทไม่ต้องไปเรียนรู้หรือผลิตสินค้าเอง เพราะไม่มีโนว์ฮาวการผลิตดีพอ นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาการทำตลาดด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ดังอย่าง บะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า จับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สร้างสรรค์แคมเปญแปลกใหม่ โดย เวทิต โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ผู้จัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า กล่าวว่า ได้จัดแคมเปญชิงโชค “มาม่าลุ้นเที่ยวไทยกับ ททท.” ภายใต้โครงการ “12 เมืองต้องห้าม…พลาด Plus” บนผลิตภัณฑ์ มาม่าคัพ 12 รูปแบบ จัดทำทั้งหมด 13 รสชาติ จำนวน 42 ล้านถ้วย แจกรางวัลแพ็กเกจที่พัก ระดับ 4 ดาว 2 คืน ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด Plus รวมทั้งสิ้น 60 รางวัล รวมระยะเวลา 60 วัน

ความร่วมมือในครั้งนี้ส่งผลให้มาม่าบรรจุภัณฑ์ถ้วยยอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% เนื่องจากพฤติกรรมผู้ท่องเที่ยวนิยมซื้อมาม่าคัพกินมากกว่าแบบซอง สำหรับ ททท.เป็นการใช้สื่อโฆษณาบนแพ็กเกจของมาม่าคัพ สื่อสารถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับแมส หนึ่งในกลยุทธ์กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ และช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐต้องการให้ประชาชนออกมาจับจ่ายท่องเที่ยว

การทำธุรกิจบนโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอด ผู้ประกอบการหรือแบรนด์ต่างๆ ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งหมด แม้ว่าแบรนด์จะแข็งแกร่งแค่ไหนก็ตาม จึงต้องสร้างความร่วมมือกัน การใช้กลยุทธ์การประสานร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ใช่แค่สูตรการทำธุรกิจ 1+1 แล้วเท่ากับ 2 แต่เป็นการผนึกความร่วมมือทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสูตรสำคัญ คือ การดำเนินกลยุทธ์แล้วจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องคำนวณว่า 1+1 ต้องเท่ากับ 3 หรือ 4