posttoday

รัฐ-เอกชนถกรถยนต์ไฟฟ้า แนะเปลี่ยนผ่านอย่างรอบคอบ

04 ตุลาคม 2559

ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนา “ขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ยุคใหม่ ประเทศไทยจะไปทางไหน” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแชร์ทิศทางที่จะเปลี่ยนไป

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนา “ขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ยุคใหม่ ประเทศไทยจะไปทางไหน” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแชร์ทิศทางที่จะเปลี่ยนไป

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตมุ่งไปสู่เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามแนวทางรัฐบาลที่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย จะต้องปรับตัวเพื่อคงความสามารถแข่งขันไว้

นอกจากนี้ แนวโน้มตลาดโลกที่มีความต้องการเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรการ CAFE (Corporate Average Fuel Effciency) ซึ่งเป็นเกณฑ์ควบคุมการนำเข้ารถยนต์โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะแพร่หลายและเข้มงวดมากขึ้น

สำหรับในไทยควรจะมีการปรับปรุงอัตราสรรพสามิตยานยนต์ เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ให้สอดคล้องกับการปล่อยมลภาวะแล้ว แต่ยังไม่สะท้อนการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์อย่างแท้จริง อาทิ รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากันแต่จ่ายภาษีไม่เท่ากัน หรือกรณีรถยนต์อีโคคาร์และรถกระบะที่แม้ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่าไรก็จ่ายภาษีสรรพสามิตในระดับต่ำ

“หากมีการปรับกลไกดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลกได้อีกด้วย” สมเกียรติ กล่าว

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมที่ไทยจะต้องปรับคือ การยกระดับมูลค่าชิ้นส่วนยานยนต์ยุคใหม่เพื่อเป็นการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงซอฟต์แวร์และเซ็นเซอร์ที่ใช้เชื่อมต่อสื่อสาร และการขับเคลื่อนในทุกเทคโนโลยี

สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องหาจุดเด่นสำคัญทางด้านเทคโนโลยีเพื่อรักษาความแข็งแกร่งของฐานการผลิตในประเทศไทย เนื่องจากการแข่งขันด้านการผลิต รวมถึงมาตรการดึงดูดนักลงทุนของอินโดนีเซีย มีความเป็นไปได้ที่จะแซงประเทศไทยในอนาคต

สำหรับความกังวลด้านการย้ายฐานวิจัยและพัฒนาของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มองว่าเป็นไปได้ยากแต่การเลือกเทคโนโลยีและสิ่งจูงใจด้านการสนับสนุนการลงทุนจะเป็นการรักษาฐานการผลิตของไทยได้ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีนโยบายเพิ่มเติมตามมา

ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เสนอให้มีการเพิ่มรถยนต์ไฮบริดเข้าไปในโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันราคาระหว่างรถยนต์ไฮบริดกับรถยนต์ทั่วไปยังไม่จูงใจ ห่างกันเพียง 5% ซึ่งถ้าจะให้ราคาจูงใจ รถยนต์ไฮบริด ควรลดช่องว่างของระยะเวลาคืนทุน จะได้กระตุ้นการตัดสินใจซื้อผู้บริโภคได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่ารถยนต์ไฮบริดจะพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีอื่นๆ ที่อาจจะก้าวข้ามเทคโนโลยีไปอย่างเทคโนโลยีฟิวเซลล์ เป็นต้น และอยากให้นำความสำเร็จของรถกระบะที่เป็น
โปรดักต์แชมเปี้ยนมาปรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะต้องมีการกำหนดอัตราชิ้นส่วนในประเทศในรถยนต์ รวมถึงจะต้องสนับสนุนให้เกิดการซื้อชิ้นส่วนในประเทศที่ถูกกว่านำเข้า ซึ่งมองว่าการผลิตแบตเตอรี่ในไทยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามีความต้องการอยู่ที่ 1 แสนลูก/ปี

เพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทมองเทคโนโลยีไฟฟ้าเป็นรถยนต์โมเดลใหม่ 1 รุ่น ซึ่งสอดคล้องกับการสนับสนุนของรัฐบาลที่มุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทจึงสนใจเข้าร่วม โดยเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะยกระดับไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ จากปัจจุบันเป็นประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น การที่รัฐบาลสนันสนุนด้านนโยบายในวันนี้ถือเป็นการวางแผนเพื่อรองรับการเติบโตและการเข้ามาของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าแม้จะยังไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแต่จะสามารถกระตุ้นให้ความต้องการ (ดีมานด์) เกิดขึ้นได้ในที่สุด

พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตผู้ช่วย รมว.พลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยควรจะมีตลาดในประเทศก่อนจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้ในประเทศก่อนผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังในการตัดสินใจเลือกสนับสนุนในทุกส่วนของเทคโนโลยี ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมตามมา ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ 1.มาตรฐานหัวชาร์จไฟฟ้า 2.อัตราภาษีสรรพสามิต และ 3.มาตรการสนับสนุนของบีโอไอ

สำหรับข้อกังวลเรื่องหากมีรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตามแผน 1.2 ล้านคัน ในปี 2573 จะกระทบการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ซึ่งยืนยันว่าในแผนแม่บทพลังงาน 20 ปี มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 5 หมื่นเมกะวัตต์ เพียงพอต่อความต้องการในทุกส่วนอย่างแน่นอน

มุมมองเหล่านี้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลมองภาพของอนาคตชัดขึ้นและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง