posttoday

คุณแม่นักช็อปยุคดิจิทัล ซื้อทุกสิ่งหวังลูกเก่งรอบด้าน

01 ตุลาคม 2559

คุณแม่ยุคใหม่ กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงมาก จากไลฟ์สไตล์การใส่ใจดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงเกิดการแข่งขันของธุรกิจเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อ

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย 

คุณแม่ยุคใหม่ กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงมาก จากไลฟ์สไตล์การใส่ใจดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงเกิดการแข่งขันของธุรกิจเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อ เริ่มตั้งแต่ลูกยังไม่ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ กลุ่มโรงพยาบาลก็นำเสนอแพ็กเกจคลอดลูก ประกันชีวิต สินค้าแม่และเด็ก ของเล่น และสถาบันสอนพิเศษต่างๆ

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท ตลาดดอทคอม ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เปิดเผยว่า ไลฟ์สไตล์ของแม่ยุคใหม่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ กลุ่มแรก ทำงานนอกบ้านและต้องรีบกลับบ้านไม่มีเวลาช็อปปิ้ง ส่วนกลุ่มสอง เป็นคุณแม่เลี้ยงลูกอยู่แต่ในบ้านไม่มีเวลาใช้ชีวิตนอกบ้านและไม่มีเวลาช็อปปิ้ง ดังนั้นแนวโน้มกลุ่มสินค้าแม่และเด็กในช่องทางออนไลน์จึงมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ทั้งนี้ อีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มสินค้าแม่และเด็กจะติดอันดับ 1 ใน 3 ของกลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับตลาดดอทคอม จากปัจจุบันสร้างรายได้ 1 ใน 5  ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ จากค่านิยมเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพ คนไทยจึงมีลูกแค่ 1-2 คนเท่านั้น ทำให้ขนาดครอบครัวเล็กลง มีกำลังซื้อสูงและพร้อมจ่ายเงินซื้อสินค้าให้ลูก โดยมองถึงคุณภาพของสินค้ามากกว่าปัจจัยด้านราคา โอกาสธุรกิจสินค้าเซ็กเมนต์พรีเมียมจึงมีแนวโน้มว่าจะเติบโตสูง

สำหรับกลยุทธ์ตลาด ปากต่อปาก (Word of Mouth Marketing) ใช้ได้ผลดี เนื่องจากโลกแห่งเทคโนโลยีทำให้กลุ่มคุณแม่เชื่อมโยงได้ง่าย เพราะเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เกิดการซื้อสินค้าตามคำบอกเล่าของกลุ่มคุณแม่  สินค้ากลุ่มแม่และเด็กต่างเปิดคลับต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย หรือบนเว็บไซต์ อาทิ นมผงเด็ก เพื่อทำการตลาดเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย

ตลาดสินค้าแม่และเด็กเป็นกลุ่ม
มีพลังงานอำนาจการซื้อมหาศาล ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี แต่สินค้าแม่และเด็กเป็นของใช้จำเป็นไม่ซื้อก็ไม่ได้ แม้กระทั่งเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ยังสาดแคมเปญลดราคาสินค้าแม่และเด็กตั้งแต่ 10-50% เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อ

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย  กล่าวว่า กลุ่มแม่และเด็กเป็นฐานลูกค้าของศูนย์การค้าไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มทำงานหรือคนรุ่นใหม่ แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมจ่ายเงินเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของลูกดี นอกจากนี้ยังมีไลฟ์สไตล์พาลูกออกนอกบ้านมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต โอกาสทางตลาดของศูนย์การค้า คือ  การเพิ่มพื้นที่เช่าศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเป็นแม่เหล็กดูดกลุ่มคุณแม่เข้ามาใช้บริการ

“คุณแม่ยุคใหม่ต้องการให้ลูกเก่งทุกด้าน เชื่อว่าโลกใบนี้การแข่งขันสูง เรียนเก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอต้องมีความสามารถพิเศษ การมีสถาบันเรียนพิเศษต่างๆ ภายในศูนย์ ทำให้กลุ่มคุณแม่ใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ อาทิ กินอาหาร ช็อปปิ้งสินค้าแม่และเด็ก ที่ผ่านมาทางศูนย์ได้เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถเข็นเด็กให้เช่า หรือเปิดพื้นที่สวนสนุกให้เด็กได้เล่นฟรีส่วนพ่อแม่ก็สามารถช็อปปิ้งได้” 

ในกลุ่มธุรกิจหนังสือและของเล่น การเลือกซื้อสินค้าของแม่ยุคใหม่เปลี่ยนไป ของเล่นและหนังสือเริ่มเข้ามาแทนที่สินค้าเทคโนโลยี เช่น ไอแพด แท็บเล็ต คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ ผู้ดำเนินธุรกิจสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ กล่าวว่า แม่ยุคใหม่มีความกังวลในเรื่องของการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี สิ่งสำคัญต้องคิดเป็น สามารถจัดการกับตัวเองได้ ไม่ใช่เก่งเพียงอย่างเดียว โดยนับแต่ปี 2555-2559 กลุ่มหนังสือสำหรับเด็ก 0-8 ปี มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% โดยหนังสือยอดนิยมมีด้วยกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ หนังสือนิทาน หนังสือเสริมความรู้ และกลุ่มอัจฉริยะปั้นได้

“ไลฟ์สไตล์คุณแม่มีเวลาช็อปปิ้งนอกบ้านน้อย กลยุทธ์การตลาดบริษัทจึงใช้ออนไลน์เป็นช่องทางในการสื่อสารแทน ป้อนข้อมูลความรู้ถึงหลักการเลือกหนังสือ อย่างนิทาน ควรเลือกเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับลูก แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ยังมีกลุ่มคุณแม่จำนวนหนึ่งที่เลี้ยงลูกผสมผสานกับเทคโนโลยี นานมีบุ๊คส์ต้องออกหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ใช้ไอแพดหรือสมาร์ทโฟนร่วมกับการอ่าน”

คิม กล่าวว่า สังคมไทยในขณะนี้แข่งขันสอบเข้าสถาบันการศึกษามีชื่อเสียงสูง สร้างวัฒนธรรมคุณแม่ยุคใหม่ให้ลูกเรียนพิเศษทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การเรียนเก่งอย่างเดียวโลกของการทำงานจริงพิสูจน์แล้วว่า เด็กที่เรียนเก่งไม่สามารถทำงานได้ดีเสมอไป โลกแห่งความเป็นจริงเด็กต้องได้เล่น ฝึกวิเคราะห์ปัญหา บริษัทจึงเปิด สถาบัน นานมีบุ๊คส์ อินโนเวชั่น เป็นการสอนรูปแบบใหม่เน้นวิเคราะห์ มากกว่าการติวให้เด็กไปสอบแข่งขัน

สมยศ บวรรังสิมันต์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ก.เจริญ ทอยส์ ผู้นำเข้าของเล่นจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ภาพรวมตลาดของเล่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เติบโต 3-5% จากที่ผ่านมาแทบไม่เติบโต เพราะพ่อแม่ยุคใหม่หันไปให้ลูกเล่นไอแพดมากกว่าจะเป็นของเล่น แต่ตลาดกลับมาเติบโตได้ เพราะพฤติกรรมแม่ยุคใหม่เป็นนักท่องโลกอินเทอร์เน็ต จะหาข้อมูลสารพัดที่ดีกับลูก จึงรับรู้ว่าหากให้ลูกใช้เทคโนโลยีมีผลเสียมากกว่าผลดี

ขณะที่ภาพรวมตลาดของเล่นในระดับบน ส่วนใหญ่เป็นของเล่นสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น อเมริกา มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันตลาดของเล่นระดับล่าง นำเข้าจากจีนก็เติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่เป็นการเติบโตในต่างจังหวัด

ลูก คือ แก้วตาดวงใจของพ่อแม่ การซื้อสินค้าจึงเลือกสิ่งที่ดีที่สุด มองคุณภาพมากกว่าราคา พร้อมจ่ายเงินเพื่อให้ลูกเก่งรอบด้าน ล้วนเป็นโอกาสทางการตลาดมหาศาลสำหรับตลาดแม่และเด็ก