posttoday

รมว.เกษตรตรวจท้ายเขื่อนเจ้าพระยาน้ำท่วมยังห่างไกลปี54

30 กันยายน 2559

"บิ๊กฉัตร"สำรวจท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสั่งกรมชลฯห้ามน้ำตัดลงทุ่งชี้ปริมาณน้ำยังห่างไกลเมื่อเทียบกับปี54รักษาพื้นที่ให้ชาวนาปลูกข้าวหลังชวดมา2ปีติดต่อกัน

"บิ๊กฉัตร"สำรวจท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสั่งกรมชลฯห้ามน้ำตัดลงทุ่งชี้ปริมาณน้ำยังห่างไกลเมื่อเทียบกับปี54รักษาพื้นที่ให้ชาวนาปลูกข้าวหลังชวดมา2ปีติดต่อกัน

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ขณะนี้ประชาชนเข้าใจไม่ตรงข้อเท็จจริงเพราะเห็นจากภาพที่ข่าวออกแต่เรื่องน้ำท่วมกันมาก จนกังวลว่าจะเหมือนปี 2554 เมื่อมาเห็นสภาพจริงปริมาณน้ำยังห่างไกลกันมาก  ดังนั้น จึงสั่งการให้กรมชลประทาน ห้ามระบายน้ำลงทุ่งเพื่อตัดยอดน้ำเพื่อรักษาพื้นที่การเกษตรเนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ปลูกข้าวมา 2 ปี

ทั้งนี้ ให้กรมชลประทานพิจารณาจาก 2 ส่วน ช่วงต้นเดือนต.ค.จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางให้ติดตามสภาพฝนสัมพันธ์กับการระบายน้ำได้มากแค่ไหน และเรื่องกักเก็บน้ำไว้แก้มลิงต่างๆ สำหรับใช้ไปถึงฤดูแล้วหน้าด้วย มีตัวอย่างให้เห็นว่าปี 2554 น้ำท่วมหนักมาปี 2555ระบายเต็มที่ใช้น้ำมาจนแห้งหมดจึงไม่ใช่สักแต่ปล่อยน้ำเพราะกลัวน้ำจะท่วมให้กักเก็บน้ำไว้ ในแก้มลิงที่มีศักยภาพสามารถใช้ได้ถึงฤดูแล้งหน้า นอกจากนั้น กรมอุตุนิยมวิทยายัง ระบุว่า แม้มีร่องมรสุมเข้าภาคกลางช่วงปลายสัปดาห์นี้ อาจมีฝนตกไม่มากและขณะนี้ยังไม่มีน้ำล้นคันกั้นน้ำ

“ดังนั้น หากจำเป็นต้องตัดยอดน้ำจะให้ตัดลงทุ่งที่มีการเก็บเกี่ยวแล้วเท่านั้นโดยให้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมตรวจสอบด้วย เพื่อความแม่นยำและทุกพื้นที่ต้องแจ้งล่วงหน้า และให้กรมชลฯควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท ไม่ให้เกิน  2 พันลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบจังหวัดพื้นที่ท้ายน้ำ อย่างไรก็ตามให้กรมชลฯประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน “รมว.เกษตรฯกล่าว

ทั้งนี้จากสถานการณ์น้ำท่วมมีพื้นที่เกษตรโดนน้ำท่วมตั้งแต่ภาคเหนืออีสานรวมแล้ว 1.4 ล้านไร่ ในปี 2554ท่วม17ล้านไร่
 
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่าได้ใช้ดาวเทียม 10 ดวงเพื่อให้ได้ข้อมูลสภาพน้ำเอ้อท่วม และติดตามพื้นที่เกษตร อย่างต่อเนื่อง จะรู้ว่าแต่ละพื้นที่ปลูกเมื่อไหร่ ภายใน2 ชม. เร็วกว่าส่งคนลงไปสำรวจ ขณะนี้มีพื้นที่ น้ำท่วม 1.4 ล้านไร่ในทุกภาคทั่วประเทศ สำหรับตอนล่างพื้นที่ท่วมท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1 ล้านไร่ ถือว่าน้อยกว่าปีปกติที่มีน้ำท่วมยังไม่มีน้ำล้นคันไปท่วมพื้นที่ป้องกัน ซึ่งวันนี้ยืนยันว่าปริมาณน้ำยังอยู่ในลำน้ำ กรมชลประทาน ยังควบคุมสถานการณ์น้ำได้100%

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าขณะนี้ได้ติดดดตามการเก็บเกี่ยวข้าวในทุ่งเจ้าพระยา หากเกี่ยวแล้วเสร็จภายในกลางเดือนต.ค. เพื่อเตรียมผันน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งปีนี้พื้นที่ลุ่มภาคกลาง กว่า 4 ล้านไร่ ปลูกข้าวล่าช้า เนื่องจากภัยแล้ง จึงต้องรอให้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน2 สัปดาห์   ซึ่งในขณะนี้ข้าวคาทุ่งยังรอเก็บเกี่ยวอีก  1.4ล้านไร่

สำหรับพื้นที่แก้มลิงที่จะใช้เก็บน้ำ มี 3 แห่ง เป็นแหล่งรองรับน้ำ เพื่อลดยอดน้ำสูงสุดที่จะต้องระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เช่น 1.ทุ่งป่าโมก-ผักไห่พื้นที่ประมาณ 5 หมื่นไร่ มีการปลูกข้าวนาปีรวม  1 หมื่นไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 8,900 ไร่ คงเหลือพื้นที่รอเก็บเกี่ยว 1,100 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดประมาณสิ้นเดือนก.ย. 2559 เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถรับน้ำได้ทั้งหมด 80 ล้านลบ.ม. 2.ทุ่งผักไห่ พื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่ มีการปลูกข้าวนาปีรวม 37,431 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 28,354 ไร่ คงเหลือพื้นที่รอเก็บเกี่ยว 9,077 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดประมาณสิ้นเดือนก.ย.2559 สามารถรับน้ำได้ทั้งหมด 240 ล้านลบ.ม. และ3. ทุ่งบางบาล พื้นที่ประมาณ 130,810 ไร่ มีการปลูกข้าวนาปีรวม 106,315 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 76,765 ไร่ คงเหลือพื้นที่รอเก็บเกี่ยว 29,550 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดในวันที่ 5ต.ค. 59 สามารถรับน้ำเข้าทุ่งบางบาลได้เฉพาะพื้นที่ที่มีคันกั้นน้ำประมาณ 30,000 ไร่ ความจุประมาณ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากปัจจุบันมีน้ำที่จ. นครสวรรค์ 1,790 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดว่าวันที่ 6 ต.ค. จะมีปริมาณน้ำถึง 2 พันกว่าลบ.ม.ต่อวินาที และมีน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรัง  จะขยับตัวถึง 400ลบ.ม.ต่อวินาที และเข้ามาสมทบเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระดับ  2,500-2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที คิดเป็น224 ล้านลบ.ม.ต่อวัน สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้ำเข้าวันละ 40 ล้านลบ.ม. กรมชลฯระบายออกวันละ  40 ล้านลบ.ม. ระบายผ่านเขื่อนพระราม 6 ระดับ 488 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยผันเข้าคลองระพีพัฒน์  ลงคลองชายทะเลฝั่งตะวันออก และทางตรงใช้ระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิด 2.2 พันลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 190 ล้านลบ.ม.ต่อวันโดยไม่กระทบท่วมกรุงเทพ ใช้ประตูระบายคลองลัดโพธิ์ เร่งระบายลงอ่าวไทยได้รวดเร็วมากขึ้น