posttoday

สศอ.คลอดเกณฑ์ชูสมุนไพรขึ้นแท่นโปรดักส์แชมเปี้ยน

16 กันยายน 2559

สศอ.คลอดเกณฑ์ชูสมุนไพรขึ้นแท่นโปรดักส์แชมเปี้ยน ดันส่งออกโต ด้านเอกชนร้องรัฐปลดล็อกเงื่อนไขการซื้อยาสมุนไพร

ศอ.คลอดเกณฑ์ชูสมุนไพรขึ้นแท่นโปรดักส์แชมเปี้ยน ดันส่งออกโต ด้านเอกชนร้องรัฐปลดล็อกเงื่อนไขการซื้อยาสมุนไพร

นายสุรพล ชามาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ (โปรดักส์แชมเปี้ยน) อุตสาหกรรมการผลิตยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพรไว้ 6 ประการ คือ 1.ต้องเป็นยาที่มีมูลค่าการใช้ในประเทศสูง 2.เป็นยาจำเป็นที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศหรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ 3.เป็นยาจำเป็นที่มีสัดส่วนผลกระทบต่องบประมาณด้านสุขภาพของประเทศสูง 4.เป็นยาที่สร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ในแง่ของการจ้างงานและการส่งออก 5.เป็นยาในแผนการวิจัยและพัฒนาประเทศ ทั้งในส่วนขององค์การเภสัชกรรมและภาคเอกชน และ6.เป็นยาสมุนไพรที่มีการวิจัยและพัฒนาในประเทศและเพื่อผลักดันให้ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสูตรยา โดยปัจจุบันการส่งออกยาของไทยไปต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 มีมูลค่าส่งออกประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อน 5.78% ส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อจากประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยไทยมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกกว่า 77%
   
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์และสินค้ายาของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาของไทยไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศปี 2558 จะปรับตัวลดลงจากปีก่อน 0.19% อยู่ที่ประมาณ 3.79 หมื่นตัน โดยเฉพาะยาน้ำและยาผง ซึ่งเป็นการลดลงจากการจำหน่ายยาในประเทศ 3.26% จากปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 3.44 หมื่นตัน อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ยาเพิ่มขึ้น คาดปี 2559 การผลิตและจำหน่ายยาทั้งในประเทศและต่างประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
    
นอกจากนี้ ภาพรวมความต้องการใช้ยาที่เพิ่มขึ้นยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับการนำเข้ายาในปี 2558 มีมูลค่า 1,706 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.17% เนื่องจากยาบางชนิดยังไม่มีชื่อยาสามัญซึ่งมีผลต่อการรักษาใกล้เคียงกับยาต้นแบบมาทดแทน สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และอิตาลี
    
นายศุภชัย สายบัว ผู้อำนวยการบริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติก จำกัด กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาล โดยเฉพาะกรมบัญชีกลางปลดล็อคเงื่อนไขกำหนดโควตาในการจัดซื้อยาสมุนไพรไทย เช่น บริษัทฯ ตนทำเจลบรรเทาปวดที่สกัดมาจากพริก แต่ทางโรงพยาบาลระบุว่า เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความรื่นเริงและการผ่อนคลาย ทั้งที่มีสรรพคุณทางยาหลายด้านกว่าที่โรงพยาบาลระบุทำให้เกิดการจำกัดโควตาการเบิกใช้ และผลิตภัณฑ์บำรุงสมรรถนะทางเพศ ที่เมื่อขึ้นทะเบียนยา จะระบุสรรพคุณได้เพียงเป็นยาบำรุงเท่านั้น ทั้งที่สรรพคุณมีมากกว่านั้น จึงทำให้คุณค่าลดลง ส่งผลให้แต่ละปีงบประมาณการจัดซื้อยาสมุนไพรของภาครัฐ มีเพียง 300 ล้านบาท หรือ 1% เท่านั้น ทั้งที่ภาครัฐ กำหนดให้เบิกจ่ายได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของตลาดรวมอุตสาหกรรมยา
    
นอกจากนี้ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสมุนไพรไทย ผ่านมาตรฐานเพียง 10 แห่ง จากโรงงานทั้งหมด 1,000 แห่ง หรือคิดเป็น 0.1% เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน มีงบประมาณในลงทุนจำกัด ไม่สามารถซื้อเครื่องผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่สามารถคัดแยกหรือทำสารสกัดที่ตรวจสอบรับรองได้ทางวิทาศาสตร์ได้ จึงต้องการให้ภาครัฐ จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาตำรับยาสมุนไพรที่มีกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตรวจสอบสรรพคุณที่เป็นมาตรฐานสากลให้ผู้ประกอบการเช่าในราคาที่เหมาะสมได้ ปัจจุบันมีโรงงานนาสมุนไพรได้มาตรฐานเพียง 10 แห่ง และมีเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่มีศูนย์วิจัยเป็นของตัวเอง