posttoday

เทรนด์โลกลุยโรงไฟฟ้าเล็ก

12 กันยายน 2559

เอกชนมองเทรนด์โลกมุ่งตั้งโรงไฟฟ้าเล็กใกล้ผู้ใช้ หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน วอนรัฐให้ความสำคัญ

เอกชนมองเทรนด์โลกมุ่งตั้งโรงไฟฟ้าเล็กใกล้ผู้ใช้ หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน วอนรัฐให้ความสำคัญ

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่า แนวโน้มการสร้างโรงไฟฟ้าทั่วโลกในอนาคตจะให้ความสำคัญกับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งปัจจุบันจะพบว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะเจอกระแสต่อต้านอย่างมาก ในขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังคงต้องรอการพัฒนาให้มีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่จะกักเก็บพลังงาน เพื่อให้มีพลังงานเตรียมไว้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ อัตราการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องทุกปีตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่การดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2016) ยังมีอุปสรรคต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ภาครัฐจะยังยืนยันอยู่ในกรอบเวลาที่จะสร้างโรงไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าตามแผนที่กำหนดไว้

“กรณีภาคใต้จะพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมากกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ ในขณะที่แผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ หรือโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ยังไม่มีใครทราบ ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ทางภาคใต้จะลำบากหากจัดหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ เช่น นิคมอุตสาหกรรมยาง ถ้าไม่รีบแก้ปัญหาในการหาโรงไฟฟ้าสำรองไว้”นางปรียนาถ กล่าว

นางปรียนาถ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่มีกำลังผลิต 10-90 เมกะวัตต์ (เอสพีพี) เป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถอยู่ใกล้กับผู้ใช้ได้ สามารถสร้างได้ในระยะเวลาที่เร็วกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และสามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ได้โดยตรง มีประสิทธิภาพดีกว่า เทียบกับพลังงานทดแทน ซึ่งยังมองว่าเอสพีพี โดยคอนเซ็ปต์เป็นโมเดลเดียวที่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม เพราะอยู่ใกล้ผู้ใช้ไฟฟ้าขายตรงให้กับโรงงาน

“เทรนด์ของโลกในเรื่องโรงไฟฟ้าจะเป็นแบบนี้ทั้งนั้น จะเป็นโรงเล็กๆ เพราะที่ผ่านมาบางประเทศมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง เมื่อเกิดปัญหาเดินเครื่องไม่ได้ก็กระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นไฟดับทั่วเมือง”นางปรียนาถ กล่าว

นางปรียนาถ ยังกล่าวว่า บี.กริมฯ ก็มองหาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น จริงๆ แล้วไทยประสบความสำเร็จมาโดยตลอดในธุรกิจไฟฟ้า แต่เท่าที่ทราบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยากเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า เพราะเห็นว่าเอกชนทำมากไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตามแผนพีดีพีจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมากน้อยเพียงใด

ภาพจาก bgrimmgroup.com