posttoday

รัฐ-เอกชนทุ่มวิจัยยานยนต์ไฟฟ้า

31 สิงหาคม 2559

ภาครัฐ เอกชน เร่งวิจัยแบตเตอรี่ มอเตอร์ หนุนโรดแมปอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ภาครัฐ เอกชน เร่งวิจัยแบตเตอรี่ มอเตอร์ หนุนโรดแมปอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงจะเร่งหามาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านการวิจัย การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่งเสริมการวิจัยแบตเตอรี่ มอเตอร์ และวัสดุ

“รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งไฮบริด อีโคคาร์ และไฮบริด-ปลั๊กอิน รวมทั้งในอนาคตที่จะก้าวสู่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยกระทรวงมีความพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พร้อมกับการร่วมมือกับค่ายรถยนต์ต่างๆ” นายพิเชฐ กล่าว

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยในกระทรวง นักวิจัยในมหาวิทยาลัย และกระทรวงพลังงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงรถ และพัฒนามอเตอร์ รวมถึงมีการจัดสัมมนาและกระตุ้นให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีการปรับตัว มุ่งเตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่กำลังเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ล่าสุดในการพัฒนาแบตเตอรี่ ได้ทำโครงการกับกระทรวงพลังงาน ที่จะพัฒนาอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในยานยนต์ไฟฟ้า และโซลาร์เซลล์ โดยเป็นการลงทุนและพัฒนาในระดับสูง และจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในอนาคต

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีมติอนุมัติงบประมาณ 765 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดทำโครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ภายในระยะเวลา 2 ปี รองรับการจัดเก็บพลังงานที่ผลิตจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะทำให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพและมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ตลอดจนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (SPP-Hybrid) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการเก็บสะสมพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐโดย สวทช. อยู่ระหว่างการพัฒนางานวิจัย ด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ของวิศวกรชาวไทย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งไทยสามารถดูต้นแบบจากต่างประเทศ และพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของตนเองได้ คาดว่าการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อการใช้งานจริงในประเทศไทย ภายใน 5 ปี จะสามารถเกิดขึ้นได้ และหากไทยสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ได้ด้วยตัวเอง จะสามารถผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้เกิดได้รวดเร็วขึ้น