posttoday

โฆษณาดิจิทัลเบียดหนังสือพิมพ์เฟซบุ๊กนั่งแชมป์สินค้าใช้งบมากสุด

30 สิงหาคม 2559

จากอัตราส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นส่งผลให้ คนไทยสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ โดยผ่านอินเทอร์เน็ตจากมือถือได้ง่ายขึ้น

โดย... จะเรียม สำรวจ

จากอัตราส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นประกอบกับปัจจุบันสมาร์ทโฟนยังคงลดราคาขายลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ คนไทยสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ โดยผ่านอินเทอร์เน็ตจากมือถือได้ง่ายขึ้น

แนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เจ้าของสินค้าเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์สินค้า ทำกิจกรรมการตลาด เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้โดยตรง และวัดผลการตอบรับจากการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมภาพรวมสื่อโฆษณาดิจิทัล จึงเติบโตสวนกระแสภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา

นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า สื่อโฆษณาดิจิทัลที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องถือว่าสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้น ปัจจัย ดังกล่าวทำให้เจ้าของสินค้าเริ่มกำหนดทิศทางการตลาดผ่านสื่อดังกล่าว เพราะนอกจากจะสร้างความรู้และความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้า รวมไปถึงสร้างยอดขายผ่านอี-คอมเมิร์ซได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ส่งผลให้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2560 ภาพรวมสื่อโฆษณาดิจิทัลน่าจะมีอัตราส่วนปรับเพิ่มเป็น 10% หรือมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และขึ้นเป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรมโฆษณารวมรองจากสื่อทีวี จากปัจจุบันสื่อโฆษณาดิจิทัลมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 8% เป็นอันดับ 3 ในอุตสาหกรรมโฆษณารวม โดยอันดับ 1 เป็นของสื่อทีวี และอันดับ 2 เป็นของสื่อหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกไม่ต่ำกว่า 200-300%

สำหรับภาพรวมของสื่อโฆษณาดิจิทัลในสิ้นปี 2559 นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 9,883 ล้านบาท หรือเติบโต 22% จากปี 2558 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 8,084 ล้านบาท โดยในส่วนของสื่อโซเชียลมีเดียที่ได้รับความสนใจจากเจ้าของสินค้าหันมาใช้งบโฆษณามากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก มีการใช้งบอยู่ที่ประมาณ 2,842 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการใช้งบอยู่ที่ 1,907 ล้านบาท ตามด้วยยูทูบ มีการใช้งบอยู่ที่ 1,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการใช้งบไป 1,599 ล้านบาท และสื่อดิสเพลย์ มีการใช้งบที่ 1,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการใช้งบไป 1,659 ล้านบาท

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร อุปนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมสื่อโฆษณาดิจิทัลในปีนี้ถือว่าก้าวขึ้นมาเป็นสื่อหลักเทียบเคียงสื่อโทรทัศน์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เห็นได้จากการใช้เม็ดเงินโฆษณาของสินค้าต่างๆ ที่เคยใช้เม็ดเงินกับสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ยานยนต์ หรือ เครื่องดื่มนันแอลกอฮอล์ที่เริ่มหันมาใช้งบผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะวิดีโอถือเป็นสื่อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด

ในส่วนของสินค้าที่มีการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลมากที่สุดตั้งแต่ ต้นปีที่ผ่านมา คือ รถยนต์ คิดเป็นมูลค่า 1,011 ล้านบาท ตามด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 974 ล้านบาท โทรคมนาคม 915 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์นันแอลกอฮอล์ 627 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์นม พร้อมดื่ม

นรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาภาพรวมสื่อโฆษณาดิจิทัลมีส่วนแบ่งการตลาดจากอุตสาหกรรมโฆษณารวมเพียง 1-2% เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดขึ้นมาเป็น 8% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสนใจสื่อดิจิทัลมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมสื่อโฆษณาดิจิทัลจะมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีสวนกระแสภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา แต่ถ้าหากมองภาพโดยรวมทั้งหมดแล้วยังถือว่าขยายตัวยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในสื่อโฆษณาดิจิทัล ขณะเดียวกันก็ยังขาดงานด้านการวิจัยพัฒนา และยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

แม้ว่าโฆษณาดิจิทัลจะค่อยๆ ขยายตัว ด้วยการเติบโตปีละ 2 หลัก แต่ก็ถือเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนและมีแนวโน้มที่ดีกว่าสื่อโฆษณาอื่นๆ ที่นับวันมองเห็นอนาคตที่จะเติบโตลดลง