posttoday

คนไทยฮิตใช้สมาร์ทโฟนวันละ 4 ชม.-นิยมแชตสูงสุด

04 สิงหาคม 2559

นีลเส็นเผยผลวิจัยพฤติกรรมคนไทย ใช้สมาร์ทโฟนต่อวันนาน 230 นาที (4 ชั่วโมง) โปรแกรมแชตนิยมสูงสุด

นีลเส็นเผยผลวิจัยพฤติกรรมคนไทย ใช้สมาร์ทโฟนต่อวันนาน 230 นาที (4 ชั่วโมง) โปรแกรมแชตนิยมสูงสุด

น.ส.ยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของผู้บริโภคชาวไทย ตามกลุ่มตัวอย่างที่ทำการวิจัยในไตรมาสแรกจำนวน 965 คน และไตรมาส 2 อีก 705 คนทั่วประเทศ พบว่า คนไทยมีการใช้สมาร์ทโฟนเฉลี่ยต่อวันละ 234 นาที หรือเกือบ 4 ชั่วโมง ซึ่งช่วงเวลาที่ผู้ใช้มีการตื่นตัวกับการใช้สมาร์ทโฟน คือ เวลา 08.00-23.00 น. โดยมีค่าเฉลี่ย 12 นาที/ชั่วโมง ส่วนช่วงเวลาที่มีการใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุด คือ 20.00-21.00 น. มีค่าเฉลี่ยใช้งานอยู่ที่ 13.1 นาที/ชั่วโมง

คนไทยฮิตใช้สมาร์ทโฟนวันละ 4 ชม.-นิยมแชตสูงสุด

นอกจากนี้ ยังพบว่ากิจรรมที่ผู้บริโภคนิยมใช้ผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุด คือการสื่อสาร ใช้เวลาต่อวันไปทั้งหมด 78 นาที ซึ่งในจำนวน 78 นาที ประเภทของการสื่อสารที่ผู้บริโภคนิยมใช้งานมากที่สุด คือ แชต หรือการสนทนา คิดเป็น 66 นาที/วัน ส่วนกิจกรรมที่นิยมรองลงมา คือ การใช้งานแอพพลิเคชั่น 66 นาที การใช้งานเพื่อความบันเทิง 42 นาที และการบริการจัดการ 27 นาที

ทั้งนี้ จากปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการใช้ความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 ของปี 2558 ที่ผ่านมาผู้บริโภคมีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน

สมาร์ทโฟน 500 เมกะไบต์/วัน หลังจากนั้นปรับเพิ่มมาเป็น 544 เมกะไบต์/วันในไตรมาส 4 ปี 2558 เพิ่มเป็น 574 เมกะไบต์/วันในไตรมาสแรกปี 2559 และปรับเพิ่มเป็น 689 เมกะไบต์/วันในไตรมาส 2 ปี 2559 ซึ่งในส่วนของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้ดังกล่าวใช้ผ่านสัญญาณไว-ไฟมากกว่าการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ

น.ส.ยุวดี กล่าวอีกว่า ในส่วนของการใช้งานเอ็ม-คอมเมิร์ซ หรือการจ่ายเงิน ทำธุรกรรมธนาคาร และการขายสินค้าผ่านมือถือก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการทำธุรกรรมธนาคาร ในไตรมาสแรกปี 2557 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 8% ไตรมาสแรกปี 2558 มีสัดส่วนการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 31% ไตรมาสแรกปี 2559 มีสัดส่วนการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 43% และไตรมาส 2 ปี 2559 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 49%

สำหรับการใช้จ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น ไลน์เพย์ และเพย์พัล ไตรมาสแรกปี 2557 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 7% ไตรมาสแรกปี 2558 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 12% ไตรมาสแรกปี 2559 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 24% และไตรมาส 2 ปี 2559 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 24% ส่วนการขายสินค้าผ่านมือถือ ไตรมาสแรกปี 2557 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 11% ไตรมาสแรกปี 2558 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 23% ไตรมาสแรกปี 2559 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 36% และไตรมาส 2 ปี 2559 มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 33%

อย่างไรก็ดี จากผลวิจัยที่พบดังกล่าวถือเป็นข้อมูลสำคัญที่นักการตลาดควรให้ความสำคัญ พร้อมกับทำความเข้าใจถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำกิจกรรมการตลาดผ่านมือถือ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้ตรงจุด