posttoday

ติดเครื่องแผนฯ12 หวังศก.โต5%-รายได้ท่องเที่ยว3ล้านล.

23 กรกฎาคม 2559

เป็นเป้าหมายที่ท้าทายเมื่อสศช. ตั้งเป้าว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 จะต้องผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 5% ต่อปี

เป็นเป้าหมายที่ท้าทายเมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งเป้าว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) จะต้องผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 5% ต่อปี

โดย สศช.หวังว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนฯ 12 จะเป็นจริงได้ในที่สุด เพราะแผนฯ 12 มีความแตกต่างจากแผนพัฒนาฯ ทั้ง 11 ฉบับที่ผ่านมา คือ จะมีลักษณะเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่ชัดเจนมากขึ้น และแผนฯ 12 ยังถือว่าเป็นแผนปฏิบัติการก้าวแรกของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2579) ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้

ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าวในการประชุมประจำปีของ สศช. เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อสรุปร่างแผนฉบับสุดท้าย ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยระบุว่า แผนฯ 12 ตั้งเป้าหมายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ คือ จะต้องดำเนินการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยเศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีของแผนฯ

“แผนฯ 12 ตั้งเป้าหมายว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องอยู่ที่เฉลี่ย 5% ต่อปี จากปัจจุบันที่โตเฉลี่ยราว 3% ขณะที่รายได้ต่อหัวเมื่อสิ้นแผนฯ จะต้องขึ้นมาอยู่ที่ 8,200 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี จากปัจจุบัน 6,000 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ที่ระดับ 5% ต่อปี จะต้องขับเคลื่อนในส่วนต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ การลงทุนภาครัฐและเอกชนจะต้องเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี และ 7.5% ต่อปี ตามลำดับ ปริมาณและมูลค่าการส่งออกจะต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% ต้องควบคุมหนี้สาธารณะให้ไม่เกิน 55% ของจีดีพี และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2% ของจีดีพี” ปรเมธี กล่าว

ขณะเดียวกัน จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจรายสาขา โดยภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ จะต้องมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี 4.5% ต่อปี และ 6%
ต่อปี ตามลำดับ โดยเฉพาะเกษตรกรจะต้องมีรายได้สุทธิเพิ่มเป็น 59,460 บาท/ปี พื้นที่ทำการเกษตรยั่งยืนต้องเพิ่มเป็น 5 แสนไร่ ในขณะที่ประเทศไทยจะต้องมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องมีสัดส่วนในจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 45% ของจีดีพีรวม เมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2564

ปรเมธี กล่าวว่า แม้แผนฯ 12 จะตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้สูง  แต่เป้าหมายสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะแม้ว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญด้านการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังพบว่าตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำของไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของรายได้ของไทยพบว่ายังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก เห็นได้จากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini-Coefficient) อยู่ที่ 0.46 รายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 10% กับผู้ที่มีรายได้ต่ำสุด 10% หรือเท่ากับว่าคนที่รวยที่สุดและจนที่สุด 10% ของประเทศมีรายได้ห่างกันเกือบ 35 เท่า อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สาธารณสุข และระบบยุติธรรมอยู่มาก

“แม้ว่าแผนฯ 12 จะทำให้ทุกคนเท่ากันไม่ได้ แต่ความเหลื่อมล้ำต้องลดลง โดยจะให้ความสำคัญในการดูแลคน 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด และสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนต้องต่ำกว่า 6.5% จากปัจจุบันที่มีอยู่ 10%” ปรเมธี กล่าว

นอกจากนี้ แผนฯ 12 กำหนดแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพของคน เพราะคนเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมรับกับสังคมสูงวัย เพราะจากการสำรวจของสำนักงานสถิติฯ คาดว่าประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยประมาณ 30% ในปี 2579 และมีข้อน่ากังวลเพราะจากการสำรวจพบว่าปัจจุบันคนสูงวัยถึง 80% ไม่มีการออมที่พอเพียงในการดูแลตนเอง และปัจจุบันคะแนนทั้งไอคิวและอีคิวของเด็กไทยยังต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น เรื่องการพัฒนาคนต่อจากนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า จะเป็นเรื่องที่ท้าทายในการทำให้คนไทยเป็นทั้งคนดีและมีความสามารถ

“นั่นเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแต่จำเป็น เพราะเมื่อสิ้นแผนฯ 12 ในปี 2564 ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างน้อย 1 ประเทศจะหลุดจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง และหลายประเทศจะหลุดจากประเทศยากจนขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง คำถามคือ แล้วประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน เราจะต้องขยับตนเองขึ้นไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง” ปรเมธี  กล่าว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเปิดการประชุมประจำปี สศช. ว่า แผนฯ 12 ที่ สศช.อยู่ระหว่างจัดทำและเริ่มใช้ในปี 2560-2564 จะเป็นแผนสำคัญที่จะวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะเป็นร่างที่กำหนดกรอบการพัฒนาประเทศ ไม่เช่นนั้นประเทศก็เดินต่อไปไม่ได้ เพราะการพัฒนาจะมองระยะสั้นๆ เหมือนนโยบายพรรคการเมืองพรรคนั้นพรรคนี้ไม่ได้

“ประเทศจำเป็นต้องมีแผนระยะยาวไม่ใช่เพียง 5-7 ปี ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อให้ประเทศมีทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดกลุ่มคนต่างๆ เข้ามาเรียกร้องกับรัฐบาลในที่สุดก็เกิดการช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสร้างความเข้มแข็ง เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดอุปสรรคในการลงทุนในทุกสาขา ทุกเซ็กเตอร์ จะต้องดูแลคนทุกกลุ่ม เพราะเรามีคนหลายกลุ่มรายได้ ลดอุปสรรคในการเติบโตลง และลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทั้งหมดนี้คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน ทุกคนอยากจะดีขึ้นหมด แต่รัฐบาลทำคนเดียวไม่ได้ จึงอยากขอให้ทุกส่วนร่วมกันทำงานตามแนวทางประชารัฐ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2559-2563 จะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.6% ต่อปี เนื่องจากการส่งออกของไทยที่เติบโตน้อยลง และปีนี้คาดว่าการส่งออกจะติดลบ 4-5% จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา นอกจากนี้ ไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงด้วย

“หนทางอยู่รอดและการเติบโตที่รวดเร็วของผู้ประกอบการไทย คือ การบุกตลาดอาเซียน ซึ่งในช่วงปี 2559-2563 อัตราการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านจะอยู่ที่ 6-8.3% คือ เมียนมา 8.3% ต่อปี ลาว 7.3% ต่อปี กัมพูชา 7.3% ต่อปี และเวียดนาม 6% ต่อปี ซึ่งตลาดเพื่อนบ้านจะยังเป็นตลาดใหม่ที่มีพื้นที่ให้แก่สินค้าไทยหลากหลายชนิด” สมเกียรติ กล่าว

แม้ว่าแผนฯ 12 ที่ สศช.จัดทำขึ้น จะตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยเติบโตที่ระดับเฉลี่ย 5% ต่อปี พร้อมๆ กับการลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศในด้านต่างๆ แต่เมื่อเหลียวไปมองข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่ง่ายเลย