posttoday

ยานยนต์โลกคึกคัก แห่พัฒนาระบบไร้คนขับ

23 กรกฎาคม 2559

ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างค้นหาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค

โดย...อักษราภัค ลาภานันต์

ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างค้นหาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค ทำให้เห็นการเปิดตัวและทดสอบ รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า และแหล่งชาร์จพลังงานของรถยนต์จำนวนมาก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคาดการณ์ว่า อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก พร้อมกับการค่อยๆ หายไปจากตลาดของรถยนต์พลังงานน้ำมัน

ล่าสุด จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ ประกาศแผนเตรียมทดสอบเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนจริง เป็นระยะทาง 41 ไมล์ บนทางด่วนและถนนในเมืองในช่วงปลายปีนี้ เช่นเดียวกับวอลโว่ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน ที่ได้ประกาศแผนวางจำหน่ายยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนทางด่วนในปี 2021 หลังคู่แข่งอย่าง บีเอ็มดับเบิลยู ผู้ผลิตสัญชาติเยอรมนี ประกาศเตรียมเปิดตัวรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติภายใน 5 ปีหลังจากนี้ โดยความร่วมมือกับ อินเทล คอร์ป ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก

ทั้งนี้ แนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวของผู้พัฒนายานยนต์สัญชาติยุโรปส่วนใหญ่ ยังนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ หรือผู้ให้บริการคลาวด์เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ฮากาน ซามัวซัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของวอลโว่ ระบุว่า กำลังมองหาหุ้นส่วนทางธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัตินี้ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตยานยนต์ไม่สามารถทำได้ลำพัง อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเรื่องกฎหมายและข้อบังคับที่ทางการจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเหล่านี้

วอลโว่ขึ้นชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีชื่อเสียงด้านความปลอดภัยอย่างมาก และได้พยายามผลักดันระบบอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนเพื่อลดอุบัติเหตุมาตลอด อย่างไรก็ดี เหตุการณ์รถยนต์ เทสลารุ่นโมเดล เอส ของเทสลา มอเตอร์ ผู้ผลิตสัญชาติสหรัฐ พุ่งชนเข้ากับรถพ่วงขณะที่คนขับเปิดใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างรุนแรงเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ทางการต้องเข้มงวดกวดขันเทคโนโลยีใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์หนักขึ้น

ทว่าอนาคตของยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไร้คนขับยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก และแม้จะได้รับแรงกดดันด้านความปลอดภัยหรือมาตรการควบคุม เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคเริ่มสอดรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

บลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ตลาดยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์อังกฤษมียอดขายเติบโตถึง 366% เมื่อปี 2015 โดยเป็นผลจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคว่า แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าจะหมดกลางทางที่เป็นปัญหาหลักของรถยนต์ไฟฟ้า

การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นผลมาจากต้นทุนที่ลดลง หลังราคาแบตเตอรี่ปรับตัวลดลง 40% ตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งทำให้ เทสลา โมเดล เอส พัฒนาเพิ่มระยะทางได้ถึง 300 ไมล์ ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าราคาประหยัดของนิสสัน ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นก็สามารถเพิ่มระยะทางได้เป็น 155 ไมล์

ปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายฝ่ายเชื่อว่า ในปี 2050 จะมีรถยนต์ผลิตใหม่เพียง 10% เท่านั้นที่ใช้พลังงานน้ำมันเพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อน

“ระบบการขนส่งจะกลายเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา สินค้าและข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างได้กลายเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก และถึงเวลาแล้วสำหรับสินค้าจำพวกยานยนต์” ราเมซ แนม อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ ระบุ

ขณะเดียวกัน ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป บริษัทเทเลคอมและอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า กำลังหารือกับฮอนด้า มอเตอร์ ผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น พัฒนาใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ติดตั้งในรถยนต์ เพื่อสื่อสารกับคนขับ เช่น สื่อสารในระหว่างการเดินทางระยะไกล หรือให้ความช่วยเหลือในการจอดรถ

ภาพ เอเอฟพี