posttoday

ยุคดิจิทัลปั้นฟรีแลนซ์-สตาร์ทอัพ โอกาสตลาดทำงานนอกบ้าน

16 กรกฎาคม 2559

ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจโลก ทำให้กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย (Y) หรือผู้มีอายุต่ากว่า 35 ปี ต้องมีอาชีพเสริม ฟรีแลนซ์จึงกลายเป็นอาชีพยอดนิยมมากขึ้น

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจโลก ทำให้กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย (Y) หรือผู้มีอายุต่ากว่า 35 ปี ต้องมีอาชีพเสริม ฟรีแลนซ์จึงกลายเป็นอาชีพยอดนิยมมากขึ้น โดยในปี 2578 ผู้ประกอบการอาชีพฟรีแลนซ์ทั่วโลกจะพุ่งสูง 1,000 ล้านคน ขณะที่ฟรีแลนซ์หรือสตาร์ทอัพของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเทรนด์โลก

อมฤต เจริญพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮับบา ผู้ดำเนินธุรกิจโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ เปิดเผยว่า ในปี 2563 ประชากรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายจะมีสัดส่วนถึง 75% ของกลุ่มวัยทำงานทั่วโลก ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีความรู้และต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจเอง การเป็นสตาร์ทอัพจึงทำได้ไม่ยาก หรือกระทั่งการทำฟรีแลนซ์ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ เพราะโลกที่เชื่อมโยงกันหมดทำให้โอกาสการสร้างงานสร้างรายได้มีความหลากหลาย โดยเทรนด์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย ในปีนี้คาดว่าจะเกิดสตาร์ทอัพแอ็กทีฟเพิ่มจาก 500 ทีม เป็น 1,000 ทีม

ทั้งนี้ โอกาสทางธุรกิจของโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ (Co-working Space) หรือธุรกิจสถานที่ทำงานสาธารณะ มีศักยภาพเติบโตได้อีกมากในอนาคต เพราะกลุ่มเจเนอเรชั่นวายต้องการสถานที่ทำงานที่รวบรวมคนประเภทเดียวกัน มีความคิดสร้างสรรค์ในแนวเดียวกันเพื่อแชร์ประสบการณ์และความคิดใหม่ๆ และต้องการสถานที่ที่ไม่ใช่การทำงานที่บ้าน ซึ่งโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ สามารถตั้งขึ้นมาในศูนย์การค้า เช่น การจับมือร่วมกับสยามดิสคัฟเวอรี่ เพื่อเปิดพื้นที่รวบรวมไอเดียจากคนรุ่นใหม่ด้านดีไซน์และธุรกิจค้าปลีก

ขณะที่ธุรกิจศูนย์การค้า นอกจากเป็นสถานที่ช็อปปิ้งแล้ว ยังต้องสร้างพื้นที่ให้เป็นที่ทำงานรองรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เช่นกัน

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า พฤติกรรมของกลุ่มคนเจเนอเรชั่นวาย (Y) หรือกลุ่มเจเนอเรชั่นแซด (Z) ที่เริ่มใช้ชีวิตทำงานโดยที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศมากขึ้น จึงมองว่าเป็นโอกาสของศูนย์การค้าที่ต้องปรับคอนเซ็ปต์การทำศูนย์ให้เป็นเหมือนบ้าน หรือที่ทำงาน จากเดิมที่เป็นแค่แหล่งช็อปปิ้งและเอนเตอร์เทนเมนต์เท่านั้น

"กลุ่มคนที่ใช้พื้นที่ศูนย์การค้าสำหรับทำงาน จะมีไลฟ์สไตล์อยู่ในศูนย์การค้านานมากกว่าคนปกติ ถือเป็นอีกกลุ่มที่จะผลักดันให้ศูนย์การค้าเติบโตได้ เพราะการอยู่ในศูนย์นาน หมายถึงโอกาสที่จะใช้บริการต่างๆ ก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของศูนย์อยู่แล้ว คือทำอย่างไรเพื่อดึงให้ลูกค้าใช้เวลาในศูนย์การค้าให้นานที่สุด" ฉัตรชัย กล่าว

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า บริษัทเตรียมพัฒนาพื้นที่ศูนย์การค้า 6-7 สาขา สร้างพื้นที่เป็นโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ เพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ทำงานนอกบ้าน โดยเตรียมนาโมเดลของ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ภายใต้แนวคิด โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ Think Space มาเป็นต้นแบบ ซึ่งการนำร้านหนังสือบีทูเอส รวมทั้งมีร้านบริการเครื่องดื่มกาแฟอย่างสตาร์บัคส์ และมุมอ่านหนังสือหรือมุมทำงานเข้ามารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ลูกค้ามานั่งทำงานหรืออ่านหนังสือ ส่งผลภาพลักษณ์ของบีทูเอสเป็นมากกว่าแค่ร้านขายหนังสือเพียงอย่างเดียว

ขณะที่กลุ่มธุรกิจร้านกาแฟอย่างสตาร์บัคส์ เป็นร้านกาแฟที่มีจุดขายเป็นมากกว่าร้านกาแฟ บรรยากาศภายในร้านจึงถูกเนรมิตให้เหมือนเป็นบ้าน มีโซฟาให้ลูกค้าได้นั่งและโต๊ะทำงาน พร้อมกับฟรีไว-ไฟให้ใช้งาน ซึ่ง

เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันสตาร์บัคส์มีลูกค้าที่มาใช้บริการภายในร้านเพื่อทำงาน ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรืองานประจำเพิ่มขึ้น และบางสาขามีลูกค้ามาใช้บริการเพื่อเป็นสถานที่ทำงานในสัดส่วนถึง 50%

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังเดินหน้าสร้างเซ็กเมนต์ร้านกาแฟระดับพรีเมียม ด้วยการเปิดตัวร้านสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เอ็กซ์พีเรียนซ์ สโตร์ ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ในรูปแบบคอฟฟี่ ลีดเดอร์ ชิป สโตร์ ปัจจุบันมีทั้งหมด 20 สาขา โดยขนาดพื้นที่ของร้านจะใหญ่ขึ้น 250 ตารางเมตร (ตร.ม.)  จากปกติขนาด 150 ตร.ม. นอกจากนี้ยังเพิ่มขนาดของโต๊ะให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้สถานที่ทำงาน หรือกระทั่งผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ด้วยบรรยากาศสบายๆ ซึ่งเชื่อว่าลูกค้าจะยอมจ่ายเงินสูงขึ้น 15-30% เพื่อแลกกับประสบการณ์กาแฟภายในร้าน

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ข้อมูลจาก techsauce.co ระบุว่าสตาร์ทอัพในไทยมีการเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 29 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จาก 3 ราย ในปี 2555 เป็น 71 ราย ในเดือน มิ.ย. 2559 และด้านเงินลงทุน พบว่ามีการเติบโตอย่างมากจาก 73.5 ล้านบาท ในปี 2555 เพิ่มเป็นเกือบ 4,000 ล้านบาท ในเดือน มิ.ย. 2559

"สถานที่ทำงานสาธารณะ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ฟรีแลนซ์ ทั้งด้านที่ทำงานรวมไปถึงอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ที่จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และหลายองค์กรมีแนวโน้มจะลดขนาดลง โดยจ้างฟรีแลนซ์หรือเอาต์ซอร์สแทน" นพวรรณ กล่าว

ในอนาคตการทำงานแบบฟรีแลนซ์น่าจะส่งผลต่อการจ้างงานและตลาดงานทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าในการจ้างงานฟูลไทม์จะน้อยลง เพราะในมุมมองของผู้จ้างงาน การจ้างฟรีแลนซ์ นั้นนอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว ยังมีโอกาสได้ทำงานกับคนที่มีความสามารถหลากหลาย นั่นคือโอกาสทางการตลาดของสินค้าและบริการที่ต้องจับไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มดังกล่าวให้ดี